ไข่นกกระทา

Distylium indicum Benth. ex C. B. Clarke

ไม้ต้น แตกกิ่งต่ำ กิ่งอ่อนมีขนรูปดาว กิ่งแก่มักมีปุ่มหูดรูปไข่ใบเดี่ยวเรียงเวียนรูปรีถึงรูปไข่กลับดอกแยกเพศร่วมต้นและดอกสมบูรณ์เพศ ช่อดอกแบบช่อกระจะช่อเชิงลด หรือเป็นดอกเดี่ยว ๆ ออกตามซอกใบ ดอกสีขาวหรือสีนวล ไร้กลีบ ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรีถึงทรงรูปไข่

ไข่นกกระทาเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ ม. แตกกิ่งต่ำเปลือกสีเทา กิ่งอ่อนมีขนรูปดาว กิ่งแก่ขนจะหลุดร่วงและมักมีปุ่มหูดรูปไข่สีน้ำตาล กว้าง ๒.๕-๓ ซม. ยาว ๔-๕ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๖-๑๔ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนแหลมหรือรูปลิ่ม ขอบเรียบ หรือหยักห่าง ๆ ช่วงที่ค่อนไปทางปลายใบแผ่นใบหนา ด้านบนเกลี้ยงหรืออาจมีขนรูปดาวตามเส้นกลางใบ ด้านล่างมีขนประปรายถึงเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๘ เส้น แต่ละเส้นโค้งและปลายเส้นจดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ มักเป็นร่องทางด้านบน ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม. หูใบรูปแถบแกมรูปใบหอก ยาว ๓-๘ มม. มีขนประปราย

 ดอกแยกเพศร่วมต้นและดอกสมบูรณ์เพศ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ช่อเชิงลด หรือเป็นดอกเดี่ยว ๆ ออกตามซอกใบ แต่ละช่อมีดอก ๑-๑๐ ดอก ดอกสีขาวหรือสีนวล ไร้กลีบ เกสรเพศผู้ในดอกเพศผู้และดอกสมบูรณ์เพศมี ๑-๘ เกสร อยู่บนก้านชูเกสรเพศผู้หรือก้านชูเกสรร่วมอับเรณูแตกตามยาว เกสรเพศเมียในดอกเพศเมียและดอกสมบูรณ์เพศ มีรังไข่อยู่เหนือวงกลีบบนก้านชูเกสรเพศเมียหรือก้านชูเกสรร่วม รังไข่รูปค่อนข้างกลม มีขนรูปดาวสีน้ำตาลเข้มหนาแน่น มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียแยกกันเป็นรูปเรียวแหลม

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรีถึงทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาว ๑-๑.๕ ซม. มีขนรูปดาว ปลายผลเป็นติ่งคล้ายหนามแหลม

 ไข่นกกระทามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบตามป่าดิบใกล้แหล่งน้ำ ที่สูงจากระดับทะเล ๖๐๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไข่นกกระทา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Distylium indicum Benth. ex C. B. Clarke
ชื่อสกุล
Distylium
คำระบุชนิด
indicum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Bentham, George
- Clarke, Charles Baron
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Bentham, George (1800-1884)
- Clarke, Charles Baron (1832-1906)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย