ตานครบเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๗ ม.
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๕.๕ ซม. ยาว ๔-๑๕ ซม. ปลายมนถึงตัด ปลายสุดมักเว้าตื้น โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนเป็นมันวาว สีเขียวแกมสีเทาอ่อนด้านล่างมีนวลเล็กน้อย เส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๑๔ เส้น อาจพบที่มีน้อยหรือมากกว่านี้ ก้านใบยาว ๒-๘ มม. เกลี้ยง หูใบอยู่ในซอกก้านใบ รูปใบหอก ยาวได้ถึง ๗ มม. มีสัน ๒ สัน เกลี้ยง ร่วงง่ายและทิ้งรอยแผลเป็นตามกิ่งแขนง
ดอกเดี่ยว ออกเป็นกระจุกตามซอกใบ มีใบประดับย่อย ๑ คู่ ขนาดเล็กมาก อยู่บริเวณโคนก้านดอกติดทน ก้านดอกยาว ๒-๕ มม. พบบ้างที่ยาวได้ถึง ๑ ซม. เกลี้ยง กลีบเลี้ยงสีเขียวอ่อนแกมสีเหลืองอ่อน โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมกว้างประมาณ ๐.๖ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาวถึงสีเหลืองอ่อน รูปรีแกมรูปขอบขนาน หรือรูปแถบ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๓-๕ มม. โคนสอบคล้ายก้านกลีบ ด้านในกลีบดอกมีรยางค์ลักษณะคล้ายลิ้นขนาดสั้นกว่ากลีบดอก ติดอยู่ใกล้โคนกลีบ เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวเท่ากับหรือยาวมากกว่าแฉกกลีบเลี้ยง ปลายหลอดหยักซี่ฟัน ก้านชูอับเรณูส่วนที่แยกเป็นอิสระยาวเท่ากัน หรืออาจไม่เท่ากัน ก้านชูอับเรณูสั้น ๕ ก้าน ยาวประมาณ ๒.๕ มม. และก้านชูอับเรณูยาว ๕ ก้าน ยาวประมาณ ๓ มม. เกลี้ยง อับเรณูติดที่ฐาณ รูปขอบขนานขนาดเล็ก แตกตามยาว เกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรี ยาวประมาณ ๑ มม. เกลี้ยง มี ๓ ช่อง มีเพียง ๑ ช่องที่สมบูรณ์ซึ่งมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๓ ก้าน ยาวประมาณ ๑ มม. โคนเชื่อมติดกันประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวทั้งหมด ปลายแยกเป็น ๓ แฉก
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรี กว้าง ๒.๕-๕ มม. ยาว ๐.๘-๑.๑ ซม. เกลี้ยง สุกสีแดง ก้านผลยาว ๕-๘ มม. เกลี้ยง มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดรูปทรงรี ค่อนข้างแบน กว้าง ๑.๕-๓ มม. ยาว ๖-๘ มม. เกลี้ยง เปลือกเมล็ดชั้นนอกบาง มี ๑ เมล็ด
ตานครบมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าดิบแล้ง ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนมีนาคมถึงธันวาคม เป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน.