ชัยพฤกษ์เป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูงได้ถึง ๑๕ ม. กิ่งอ่อนเกือบเกลี้ยง
ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคู่ เรียงเวียน มีใบย่อย ๑๐-๓๐ ใบ เรียงตรงข้าม รูปรีแกมรูปไข่ถึงรูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๒.๕-๕ ซม. ปลายมนกลมถึงทู่ โคนมนกลมและกว้างขอบเรียบ แผ่นใบด้านบนสีเขียว ค่อนข้างเป็นมัน ด้านล่างสีเขียว มีขนสั้นละเอียดแนบชิด เส้นแขนงใบค่อนข้างถี่มีข้างละ ๑๒-๑๖ เส้น เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๑.๕-๔ ซม. เกือบเกลี้ยง แกนกลางใบยาว ๒๐-๓๐ ซม. ก้านใบย่อยสั้น หูใบรูปเคียวหรือรูปรี กว้างประมาณ ๒ ซม. ปลายแหลม
ช่อดอกแบบช่อกระจะคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๕-๑๖ ซม. ก้านช่อดอกยาว ๒-๓ ซม. ใบประดับรูปไข่ ยาว ๑-๑.๕ ซม. ปลายแหลม ใบประดับย่อยรูปแถบแกมรูปขอบขนาน ยาว ๔-๕ มม. ก้านดอกยาว ๓-๕ ซม. ดอกสมมาตรด้านข้าง กลีบเลี้ยงสีแดงเข้มถึงสีน้ำตาลอมแดง มี ๕ กลีบ รูปไข่ ยาว ๔-๕ มม. ปลายแหลมกลีบเรียงซ้อนเหลื่อมในดอกตูม กลีบดอกเมื่อแรกบานสีชมพู ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้มแล้วค่อย ๆ จางลงเมื่อใกล้โรย มี ๕ กลีบ รูปไข่กลับ กว้าง ๗-๘ มม. ยาว ๒.๕-๓.๕ ซม. มีก้านกลีบเด่นชัด ยาว ๑.๕-๓.๕ ซม. กลีบดอกเรียงซ้อนเหลื่อมในดอกตูม เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร เกสรที่ยาว ๓ เกสร โค้งงอ ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๒ ซม. บริเวณตรงกลางป่อง พองออกเป็นรูปทรงกลม อับเรณูยาวประมาณ ๔ มม. แตกตามช่องเปิดที่ปลายและโคน เกสรเพศผู้ที่สั้น ๔ เกสร ยาวประมาณ ๑ ซม. อับเรณูแตกเป็นรูที่โคน ส่วนที่เหลืออีก ๓ เกสร ลดรูป ยาวประมาณ ๑ ซม. อับเรณูขนาดเล็กมาก ก้านรังไข่เรียวยาว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบรูปขอบขนาน เรียว โค้งงอ เกลี้ยง มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ยอดเกสรเพศเมียเห็นไม่ชัด
ผลแบบผลแห้งไม่แตก เป็นฝักรูปคล้ายทรงกระบอก สีดำ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒.๕ ซม. ยาวได้ถึง ๖๐ ซม. เมล็ดแบน รูปทรงค่อนข้างกลม สีน้ำตาลเป็นมัน มีจำนวนมาก ก้านเมล็ดรูปเส้นด้าย
ชัยพฤกษ์เป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในประเทศเมียนมา พบขึ้นตามป่าผลัดใบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม ปัจจุบันนำเข้ามาปลูกทั่วไปในประเทศไทยจนถึงคาบสมุทรมลายู
ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ.