กระปรอกหางแมว

Asplenium confusum Tardieu & C.Chr.

เฟิร์นอิงอาศัย เหง้าสั้น รากออกเป็นกระจุก ใบประกอบแบบขนนกสามชั้น ใบย่อยเล็ก ไม่มีก้านใบ กลุ่มอับสปอร์เป็นเส้นยาวตามเส้นใบ เมื่อคลุมเป็นแผ่นบาง

กระปรอกหางแมวเป็นเฟิร์นอิงอาศัย เหง้าสั้น ตั้งตรง มีเกล็ดหนาแน่นทั่วไป เกล็ดสีน้ำตาล รูปใบหอก กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. รากออกเป็นกระจุก มีรากขนอ่อนสีน้ำตาลทองทั่วไป

 ใบประกอบแบบขนนกสามชั้น กว้าง ๑๐-๒๐ ซม. ยาว ๓๐-๔๐ ซม. แกนกลางมีร่องตามยาว ก้านใบมีขนาดและสีต่าง ๆ กัน มักมีสีม่วงแดงหรือดำเป็นมัน ยาว ๒๐-๔๕ ซม. มีร่องตามยาว ใบย่อยชั้นที่ ๑ มี ๑๐-๑๕ คู่ คู่ที่อยู่ตอนปลายแกนกลางเรียงตรงข้ามกันหรือเกือบตรงข้าม คู่ที่อยู่ตอนโคนสลับกัน ใบย่อยชั้นที่ ๒ มีก้านใบสั้น ๆ ใบย่อยชั้นที่ ๓


กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ปลายใบมน โคนสอบ ขอบหยักซี่ฟัน ไม่มีก้านใบ เส้นแขนงใบแยกสาขาเป็นคู่เห็นได้ชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน กลุ่มอับสปอร์เป็นเส้นยาวตามเส้นใบ ยาว ๒-๗ มม. แต่ละส่วนของขอบใบที่เว้ามีกลุ่มอับสปอร์ ๒-๓ กลุ่ม เยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์เป็นแผ่นบาง พบเยื่อนี้ตลอดอายุของใบ

 กระปรอกหางแมวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศ ขึ้นบนต้นไม้หรือบนก้อนหินที่ชื้น ในป่าดิบแล้งและป่าดิบเขา บนพื้นที่ระดับต่ำจนถึงสูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ ๑,๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบในภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระปรอกหางแมว
ชื่อวิทยาศาสตร์
Asplenium confusum Tardieu & C.Chr.
ชื่อสกุล
Asplenium
คำระบุชนิด
confusum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Tardieu, Marie Laure
- Christensen, Carl Frederik Albert
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Tardieu, Marie Laure (1902- )
- Christensen, Carl Frederik Albert (1872-1942)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด