ไข่เขา

Rubus pyrifolius Sm.

ไม้พุ่มหรือไม้เถาเนื้อแข็ง มีไหลยาว กิ่งสีน้ำตาลเข้มมีหนามเล็กโค้งลง ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกแกมรูปไข่ หูใบเชื่อมติดกับลำต้น หยักแบบขนนก ร่วงง่ายช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ดอกสีขาวผลแบบผลกลุ่ม สุกสีแดง ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็งเมล็ด ๑-๒ เมล็ด

ไข่เขาเป็นไม้พุ่มหรือไม้เถาเนื้อแข็ง มีไหลยาว กิ่งสีน้ำตาลเข้ม มีหนามเล็กโค้งลง

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๕ ซม. ยาว ๖-๑๒ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนกลม มนหรือรูปหัวใจ ขอบหยักซี่ฟันไม่เป็นระเบียบ แผ่นใบเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๒ เส้น โค้งแบบคันศรก้านใบยาวประมาณ ๑ ซม. หูใบเชื่อมติดกับลำต้น หยักแบบขนนก ร่วงง่าย

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ยาวประมาณ ๒๕ ซม. ดอกสีขาว เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ ซม. ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. ใบประดับและใบประดับย่อยหยักลึก กลีบเลี้ยงมีขนหยาบแข็งทางด้านนอก โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกรูปใบหอก ปลายเรียวแหลม ขอบหยักซี่ฟัน ด้านในและขอบมีขนสั้นหนานุ่ม สีขาว กลีบดอก ๕ กลีบ รูปไข่กลับ ขอบหยักซี่ฟันเกสรเพศผู้จำนวนมาก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีจำนวนมากแยกจากกัน แต่ละรังไข่มี ๑ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียรูปเส้นด้าย ยอดเกสรเพศเมียมี ๒ แฉก

 ผลแบบผลกลุ่ม สุกสีแดง ผลย่อยแบบผลผนังชั้นในแข็ง ผนังชั้นในของผลย่อยเป็นรอยย่น เมล็ด ๑-๒ เมล็ด

 ไข่เขามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ที่สูงจากระดับทะเล ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย จีน ลาว เวียดนาม อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์

 ประโยชน์ ผลกินได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ไข่เขา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Rubus pyrifolius Sm.
ชื่อสกุล
Rubus
คำระบุชนิด
pyrifolius
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Smith, James Edward
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1759-1828)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.บุศบรรณ ณ สงขลา