เครือขางปุกเป็นไม้เถา มียางสีขาว กิ่งแขนงมีขนละเอียดหนาแน่นแล้วเปลี่ยนเป็นเกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปไข่ รูปขอบขนาน รูปขอบขนานแกมรูปใบหอก หรือรูปรี กว้าง ๑-๔ ซม. ยาว ๓-๑๒ ซม. ปลายเรียวแหลมสั้นหรือมนโคนมนถึงรูปลิ่ม
ขอบเป็นคลื่น แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นแขนงใบ ข้างละ ๑๓-๒๒ เส้น ทุกเส้นปลายโค้งเชื่อมกันเป็นเส้นขอบในใกล้ขอบใบ ก้านใบและเส้นกลางใบด้านล่างมีขนละเอียด เมื่อแก่เกลี้ยง ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๑ ซม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ชอกใบและปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๑๓ ซม. ช่อย่อยแบบช่อกระจุกมีขนละเอียด กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆังตื้นปลายแยกเป็น ๕ แฉก แต่ละแฉกซ้อนเหลื่อมกันมากรูปไข่ กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๑.๕-๓.๕ มม. ปลายแหลมถึงมน ด้านนอกมีขนละเอียด และตามขอบมีขนครุยละเอียด กลีบดอกสีขาว โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูปทรงกระบอกแคบ ยาว ๐.๘-๑.๕ ซม. โคนหลอดแคบเข้าเล็กน้อย มีขนทั้ง ๒ ด้าน บริเวณปากหลอดมีสีส้ม ปลายหลอดแยกเป็น ๕ แฉก ซ้อนเหลื่อมเวียนทางด้านซ้ายในดอกตูม แต่ละแฉกรูปขอบขนานแคบและเบี้ยว ยาว ๐.๖-๑.๑ ซม. ปลายมน มีขนทั้ง ๒ ด้าน ปากหลอดกลีบดอกมีกะบังรอบเป็นขนละเอียดประปราย ยาวไม่เกิน ๑ มม. เกสรเพศผู้ติดอยู่ในหลอดกลีบดอกสูงจากฐาน ๒.๕-๓.๕ มม. ก้านรูอับเรณูสั้นเป็นเส้นบางคล้ายเส้นด้าย อับเรณูรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาว ๑-๒ มม. ปลายสอบเรียวและเป็นติ่งหนาม โคนรูปหัวใจ อับเรณูไม่เกาะติดกับยอดเกสรเพศเมีย รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ยาว ๑-๑.๕ มม. เกลี้ยง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวบาง ยาว ๑-๒ มม. ยอดเกสรเพศเมียรูปไข่ ยาว ๑-๒ มม. ปลายแหลมแยกเป็น ๒ แฉก
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด เปลือกแข็ง รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๖ ซม. เมล็ดแบน รูปทรงรีกว้างประมาณ ๐.๗ ซม. ยาว ๑-๒ ซม.
เครือขางปุกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก พบขึ้นในป่าดิบหรือตามชายป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๑,๒๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่กัมพูชาและลาว.