กระปรอกสิงห์

Microsorum punctatum (L.) Copel.

ชื่ออื่น ๆ
ปรือไม้ (ลำปาง, ราชบุรี, ประจวบคีรีขันธ์); ลิ้นผีไม้, หางนกหว้า (ปัตตานี)
เฟิร์นอิงอาศัย เหง้ายาว มีรากคลุมหนาแน่น ใบรูปขอบขนาน แผ่นใบหนา กลุ่มอับสปอร์รูปกลม กระจายจากบริเวณกลางใบไปสู่ปลายใบ

 กระปรอกสิงห์เป็นเฟิร์นอิงอาศัย เหง้ารูปทรงกระบอกทอดยาวและแตกแขนง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๗ มม. มีเกล็ดรูปขอบขนานหรือรูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. ปลายสอบเรียวยาว รากออกรอบเหง้าเป็นกลุ่มคลุมเหง้าไว้เกือบทั้งหมด

 ใบเดี่ยว รูปขอบขนาน กว้าง ๑.๕-๖ ซม. ยาว ๒๕-๘๐ ซม. ปลายมนหรือแหลม โคนสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบหนา เส้นกลางใบเป็นสันเห็นได้ชัดทั้ง ๒ ด้าน เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบสั้นมาก โคนก้านมีเกล็ด กลุ่มอับสปอร์รูปกลมขนาดเล็ก กระจายจากบริเวณกลางใบไปสู่ปลายใบ ไม่มีเยื่อคลุมกลุ่มอับสปอร์

 กระปรอกสิงห์มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นบนต้นไม้หรือบนก้อนหินในที่ค่อนข้างร่มในป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น บนพื้นที่ระดับต่ำจนถึงสูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ ๒,๐๐๐ ม. ในต่างประเทศพบทั่วไปในประเทศแถบศูนย์สูตรของทวีปแอฟริกาและเอเชีย

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระปรอกสิงห์
ชื่อวิทยาศาสตร์
Microsorum punctatum (L.) Copel.
ชื่อสกุล
Microsorum
คำระบุชนิด
punctatum
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von
- Copeland, Edwin Bingham
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl von (1707-1778)
- Copeland, Edwin Bingham (1873-1964)
ชื่ออื่น ๆ
ปรือไม้ (ลำปาง, ราชบุรี, ประจวบคีรีขันธ์); ลิ้นผีไม้, หางนกหว้า (ปัตตานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด