ตาเสือแดง ๑

Chisocheton amabilis (Miq.) C. DC.

ไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง เปลือกเรียบ สีเขียวแกมสีเทา อาจแตกล่อนเป็นแผ่นเล็กหรือขรุขระคล้ายมีตุ่มเล็ก ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียน มีใบย่อย ๘-๒๐ ใบ อาจพบได้ถึง ๔๐ ใบ เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปขอบขนานแกมรูปรี ดอกสมบูรณ์เพศหรือแยกเพศ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด เหนือซอกใบ หรืออาจพบตามปลายกิ่ง ช่อดอกห้อยลง ดอกสีขาว บางครั้งมีแต้มสีชมพูที่ปลายกลีบ มีกลิ่นหอม ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรีแกมรูปทรงกลมหรือคล้ายทรงรูปไข่กลับกว้าง แป้น ผลแก่สีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีขาวแกมสีชมพูอ่อนถึงแกมสีชมพูอมแดง เมล็ดสีน้ำตาลคล้ำ ทรงรูปไข่กลับหรือรูปทรงเกือบกลม มีขั้วผล มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีส้มแกมสีเหลือง

ตาเสือแดงชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๐ ม. เปลือกเรียบ สีเขียวแกมสีเทา อาจแตกล่อนเป็นแผ่นเล็กหรือขรุขระคล้ายมีตุ่มเล็ก ด้านในของเปลือกชั้นนอกสีส้มแกมสีแดงหรือสีชมพู เปลือกในสีเหลืองอ่อน กิ่งอ่อนเมื่อแห้งสีออกแดง

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ เรียงเวียน ยาว๒๕-๙๐ ซม. แกนกลางใบรูปทรงกระบอกหรือเป็นร่องด้านข้าง มักมีขน มีใบย่อย ๘-๒๐ ใบ อาจพบได้ถึง ๔๐ ใบ เรียงตรงข้าม ใบย่อยใกล้โคนใบมักมีขนาดเล็กกว่าใบย่อยอื่น รูปรี กว้าง ๒-๔.๘ ซม. ยาว ๒.๕-๑๑.๕ ซม. ใบย่อยที่อยู่ปลายสุดรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง ๒.๕-๘.๕ ซม. ยาว ๗.๕-๒๕.๕ ซม. ปลายแหลมหรือเป็นติ่งแหลมยาว โคนมนหรือรูปลิ่ม มักเบี้ยว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนสีเขียวเป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่า เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน หรือด้านบนมีขนสีน้ำตาลตามเส้นกลางใบ หรือด้านล่างมีขนหนาแน่นตามเส้นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๔ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไป เส้นใบย่อยเห็นชัด ก้านใบยาว ๕-๑๕ ซม. มีขน ก้านใบย่อยยาว ๒-๕ มม.

 ดอกสมบูรณ์เพศหรือแยกเพศ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ยาว ๘-๔๕ ซม. ออกตามซอกใบใกล้ปลายยอด เหนือซอกใบ หรืออาจพบตามปลายกิ่ง ช่อดอกห้อยลง แกนช่อดอกเกลี้ยงหรือมีขน ดอกสีขาว บางครั้งมีแต้มสีชมพูที่ปลายกลีบ มีกลิ่นหอม ดอกเพศผู้มักเป็นช่อแยกแขนง ๑-๒ ชั้น ดอกเพศเมียเป็นช่อสั้น ไม่แยกแขนง ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงสีเขียว ยาว ๓-๔ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วยตื้น ปลายแยกเป็น ๔-๕ แฉก เกลี้ยงหรือมีขน กลีบดอก ๕-๖ กลีบ รูปไข่กลับหรือรูปไข่กลับแกมรูปแถบ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. ปลายแหลมและงุ้ม เกลี้ยงทั้ง๒ ด้าน หรือด้านนอกมีขน เรียงซ้อนเหลื่อมในดอกตูม เมื่อแห้งสีออกแดง เกสรเพศผู้ ๘-๑๐ เกสร โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวได้ถึง ๑ ซม. ปลายหลอดหยักตื้น ๕-๗ หยัก บางหยักอาจหยักลึก ๒-๓ หยัก ด้านนอกค่อนข้างเกลี้ยงหรือมีขน ด้านในมีขนโดยเฉพาะที่โคนหยัก ส่วนปลายก้านชูอับเรณูที่แยกกันเล็กน้อยอยู่ใกล้ขอบปากหลอดและมีอับเรณูติดอยู่ด้านใน ยาวไม่พ้นปลายกลีบดอก อับเรณูรูปขอบขนาน ขนาดเล็กยาวประมาณ ๑.๕ มม. มีขน จานฐานดอกคล้ายหลอด สูง ๐.๕-๑ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขน มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวพ้นหลอดเกสรเพศผู้เล็กน้อย มีขน ยอดเกสรเพศเมียรูปทรงกลมหรือรูปทรงกระบอกสั้น ขนาดเล็ก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงรีแกมรูปทรงกลมหรือคล้ายทรงรูปไข่กลับกว้าง แป้น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔ ซม. ยาวได้ถึง ๔ ซม. เกลี้ยง ผลแก่สีขาวแล้วเปลี่ยนเป็นสีขาวแกมสีชมพูอ่อนถึงแกมสีชมพูอมแดง ส่วนใหญ่แตกเป็น ๔ เสี่ยง เมล็ดสีน้ำตาลคล้ำ ทรงรูปไข่กลับหรือรูปทรงเกือบกลม ยาวประมาณ ๙ มม. มีขั้วผลขนาดใหญ่ รูปค่อนข้างกลม มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีส้มแกมสีเหลือง ก้านผลยาว ๑.๗-๒.๕ ซม.

 ตาเสือแดงชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าดิบ ริมลำธาร และป่าพรุ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๐๐-๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมาเลเซีย เกาะบอร์เนียว และเกาะสุมาตรา.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาเสือแดง ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Chisocheton amabilis (Miq.) C. DC.
ชื่อสกุล
Chisocheton
คำระบุชนิด
amabilis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm
- Candolle, Anne Casimir Pyramus de
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Miquel, Friedrich Anton Wilhelm (1811-1871)
- Candolle, Anne Casimir Pyramus de (1836-1918)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์