ตาตุ่มป่าเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๕ ม. มีน้ำยางสีขาว
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี กว้าง ๒-๕ ซม. ยาว ๗-๑๘ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลมสั้น โคนรูปลิ่ม ขอบเป็นคลื่น แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๔-๒๐ เส้น ปลายโค้งเชื่อมกันใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๑.๒-๑.๔ ซม. หูใบรูปรี กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๓-๓.๕ มม. ขอบเป็นชายครุย ร่วงง่าย
ดอกแยกเพศร่วมต้นต่างช่อ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบหรือปลายยอด ใบประดับมีต่อม ๒ ต่อม ดอกสีเขียวอ่อนอมขาว กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ช่อดอกเพศผู้ร่วงง่าย ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๓ เกสร ไม่มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมันช่อดอกเพศเมียแต่ละช่อยาวได้ถึง ๑๒ ซม. มีมากกว่า ๒๐ ดอก ใบประดับรูปไข่กว้าง กว้างประมาณ ๑.๘ มม. ยาว ๑-๑.๒ มม. มีต่อม ดอกเพศเมียไม่มีก้านดอก เมื่อบานเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๑.๕ มม. กลีบเลี้ยงรูปไข่กว้าง กว้างประมาณ ๑.๘ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ไม่มีเกสรเพศผู้ที่เป็นหมัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๘ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๑-๑.๓ มม. เป็นร่องตามยาว ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒.๕ มม. โค้ง
ผลแบบผลแห้งแตก มีหลายผลใน ๑ ช่อ แต่ละผลรูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔ ซม. มีพูไม่ชัด เกลี้ยง มีแกนกลางผล เมล็ดรูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. มีได้ถึง ๓ เมล็ด ผิวมีลายคล้ายหินอ่อน จุกขั้วยังคงติดบนแกนกลางผลเมื่อผลแตก
ตาตุ่มป่ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคตะวันออกเฉียงใต้พบตามป่าดิบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินโดนีเซีย.