ชันรูจี

Parishia insignis Hook. f.

ชื่ออื่น ๆ
ช้องลิง, หงอกค่าง (ปัตตานี); ตีนะ (ระนอง); เตยนะ (พังงา); ท้องช่อน (สตูล); ละแจะ, ล่าแจ๊ะ, ลือเมาะบา
ไม้ต้น ลำต้นมีพูพอน ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน มีใบย่อย ๙-๑๕ ใบ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ รูปรี หรือรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายยอด ดอกสีขาวหรือสีชมพู ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม มีกลีบเลี้ยงสีแดงเข้มติดทนขยายเป็นปีกรูปขอบขนาน เมล็ดรูปคล้ายผลมี ๑ เมล็ด

ชันรูจีเป็นไม้ต้น สูง ๒๕-๕๐ ม. ลำต้นมีพูพอนกิ่งก้านเมื่ออ่อนมีขนยาวนุ่มสีสนิม เมื่อแก่เกลี้ยง

 ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ก้านใบยาว ๗-๙ ซม. มีใบย่อย ๙-๑๕ ใบ เรียงเกือบตรงข้ามกัน รูปขอบขนานแกมรูปไข่ รูปรี หรือรูปใบหอกกว้าง ๒.๕-๖ ซม. ยาว ๕-๑๘ ซม. ปลายเรียวแหลมบางครั้งสอบแคบตั้งแต่กลางใบไปยังปลายใบ โคนเบี้ยวหรือกึ่งรูปหัวใจ แผ่นใบค่อนข้างหนา มีขนเล็ก


น้อยตามเส้นกลางใบและเส้นใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๔ เส้น เส้นใบย่อยคล้ายขั้นบันไดหรือเป็นเส้นร่างแห ก้านใบย่อยยาว ๓-๙ มม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายยอดแตกกิ่งก้านสาขา ใบประดับรูปสามเหลี่ยม รูปใบหอกหรือรูปรี ยาวประมาณ ๓ มม. มีขนยาวนุ่ม ก้านดอกยาว ๒-๗ มม. กลีบเลี้ยงกว้าง ๔-๕ มม. ยาว ๓-๔ มม. โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๔ แฉก รูปไข่



กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. มีขนประปรายที่ผิวทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอกสีขาวหรือสีชมพู มี ๔ กลีบ รูปร่างต่าง ๆ กัน ตั้งแต่รูปขอบขนานถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๒-๓ มม. ด้านนอกเกลี้ยงหรือมีขนประปราย เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ยาว ๑-๒ มม. อับเรณูรูปไข่ จานฐานดอกมีขนยาวนุ่มรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกรวย มี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๘-๑.๔ ซม. มีขนยาวนุ่มสีน้ำตาลหนาแน่น ปลายผลเป็นจะงอย มีกลีบเลี้ยงสีแดงเข้มติดทนขยายเป็นปีก ๔ ปีก รูปขอบขนานกว้างประมาณ ๘ มม. ยาว ๘.๕-๑๑ ซม. ปลายปีกมนหรือค่อนข้างแหลม มีขนประปราย เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด

 ชันรูจีมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ พบขึ้นตามป่าดิบเขาหินปูน ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๒๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงมีนาคม เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและมาเลเซีย

 ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ก่อสร้าง ทำไม้แบบและลังใส่ของ.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชันรูจี
ชื่อวิทยาศาสตร์
Parishia insignis Hook. f.
ชื่อสกุล
Parishia
คำระบุชนิด
insignis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Hooker, Joseph Dalton
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1817-1911)
ชื่ออื่น ๆ
ช้องลิง, หงอกค่าง (ปัตตานี); ตีนะ (ระนอง); เตยนะ (พังงา); ท้องช่อน (สตูล); ละแจะ, ล่าแจ๊ะ, ลือเมาะบา
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต