เครือกล้วยน้อยเป็นไม้เถาเนื้อแข็ง กิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลแกมเหลือง กิ่งแก่เกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรีหรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน หรืออาจพบรูปไข่กลับบ้าง กว้าง ๑-๓ ซม. ยาว ๓-๗ ซม. ปลายมนหรือเป็นติ่งหนาม โคนมนหรือรูปลิ่ม ขอบเรียบ ใบอ่อนมีขนสีขาว ใบแก่เกลี้ยง มักพบต่อมตรงโคนใบด้านล่าง ๒ ต่อม และตามแนวขอบใบด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๘ เส้น ก้านใบยาว ๔-๕ มม. เกือบเกลี้ยง
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ยอดและตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๔-๑๐ ซม. มีขนสีเหลือง ก้านช่อดอกยาว ๐.๕-๑(-๑.๒) ซม. ก้านดอกยาว ๓-๕ มม. มีขนสั้นหนานุ่มสีเหลือง เมื่อเป็นก้านผลยาวประมาณ ๘ มม. มีข้อบริเวณกิ่งกลางของก้าน ใบประดับรูปใบหอกยาว ๒-๔ มม. ใบประดับย่อยรูปใบหอกแกมรูปแถบ ยาว ๑-๒ มม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปขอบขนาน กว้าง ประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๔ มม. ปลายมน โคนตัด มีต่อมเห็นชัด ๑(-๒) ต่อม อยู่ตรงโคนกลีบหรืออาจลงมาถึงก้านดอก ต่อมรูปขอบขนาน รูปแถบ หรือรูปไข่กลับ กว้าง ๐.๗-๑ มม. ยาว ๑.๕-๓ มม. ขอบโค้ง กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาวหรือสีเหลืองอ่อน รูปไข่แกมรูปขอบขนานหรือ รูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๓.๕ มม. ยาว ๖-๙ มม. ปลายมนโคนรูปติ่งหู ขอบหยักมนและหยักซี่ฟัน มีขนครุยก้านกลีบยาวประมาณ ๑ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ยาวไม่เท่ากัน เกสรที่ยาวสุดมี ๑ เกสร ยาวประมาณ ๘ มม. ที่เหลือยาวประมาณ ๓ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ มม. มีขน มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๕ มม. เกลี้ยง ยอดเกสรเพศเมียเรียวแหลม
ผลแบบผลแห้งแยก ๓ ซีก ซีกผลมีขนสีขาวหรือสีเหลืองอ่อน มีปีก ๓ ปีก รูปแถบ ปลายแหลมคล้ายหนาม ยาว ๑-๑.๕ ซม. เมล็ดรูปค่อนข้างกลม ขนาดเล็ก
เครือกล้วยน้อยมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงใต้ มักพบขึ้นในป่าผลัดใบ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๕๐-๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลประมาณเดือนสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน.