ตาตุ่มบกเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูงได้ถึง ๔๐ ม. ออกดอกและติดผลเมื่อใบร่วงหมด กิ่งที่ปลายเรียงเป็นวงรอบ กิ่งมีเนื้อนุ่มคล้ายฟองน้ำ มีรอยย่นตามยาวและเป็นร่องเมื่อแห้ง มียางสีขาว เกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงสลับ เรียงถี่ที่ปลายกิ่ง รูปรี กว้าง ๒-๑๑ ซม. ยาว ๑.๕-๓๓ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบเรียวถึงรูปลิ่ม ขอบจักฟันเลื่อย ปลายจักมีต่อม แผ่นใบบางคล้ายกระดาษถึงกึ่งหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านล่างมีต่อมเรียงเป็นแถวที่ขอบใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๓-๒๓ เส้น เชื่อมกันเป็นวงห่างจากขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๐.๖-๖ ซม. ที่ปลายก้านมีต่อมรูปถ้วย ๑ คู่ หูใบแยกเป็น ๒-๓ แฉก กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. ขอบมีขนครุย ร่วงเร็ว
ดอกแยกเพศแยกช่อร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามปลายกิ่ง ยาวได้ถึง ๑๗ ซม. ดอกสีเขียวอมเหลือง ไม่มีกลีบดอกและจานฐานดอก ใบประดับยาวประมาณ ๐.๘ มม. ดอกเพศผู้มีก้านดอกยาว ๐.๓-๐.๕ มม. ใบประดับของดอกเพศผู้มีต่อมใหญ่ ๑ คู่ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๑.๘-๓.๕ มม. กลีบเลี้ยงยาว ๐.๘-๑ มม. โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๒ แฉก เกสรเพศผู้ ๒ เกสร แยกกัน ก้านชูอับเรณูยาว ๐.๘-๑ มม. อับเรณูยาว ๐.๔-๐.๖ มม. ไม่มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมันดอกเพศเมียมีก้านดอกยาว ๑ มม. หรือไร้ก้าน กลีบเลี้ยงยาว ๑.๕-๒ มม. โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๒-๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ยอดเกสรเพศเมียยาว ๐.๕-๑ มม.
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม กว้าง ๔.๕-๖ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. แตกช้าและไม่สม่ำเสมอเมื่ออ่อนมีเนื้อ แก่เนื้อบางแห้ง เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลมกว้างประมาณ ๔.๕ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. มีเนื้อนุ่มบาง มีได้ถึง ๓ เมล็ด
ตาตุ่มบกมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ พบตามป่าผลัดใบ ตามที่โล่ง ที่ลาดชัน ลานหิน ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๐๐-๙๐๐ ม. ออกดอกเดือนมกราคมถึงเมษายน เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล จีน ภูมิภาคอินโดจีน และคาบสมุทรมาเลเซีย
ต้นใช้เบื่อปลา ยางสีขาวมีพิษ.