จ้ำเครือเป็นไม้พุ่ม สูง ๑-๒.๕ ม. กิ่งรูปทรงกระบอกหรือเป็นเหลี่ยมเล็กน้อย เกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีถึงรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๓.๖ ซม. ยาว ๑๐-๑๙ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนแหลมหรือสอบคล้ายรูปลิ่ม ขอบเป็นคลื่นถึงหยักมน และมีต่อมอยู่ตามมุมหยักของขอบใบ ด้านบนเกลี้ยงเป็นมันและสีเขียวเข้มกว่าด้านล่างใบอ่อนด้านล่างมีเกล็ดเล็ก ๆ สีน้ำตาลอมแดง เมื่อแก่ค่อนข้างเกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๔-๑๘ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกันก่อนถึงขอบใบ มีเส้นขอบใน ก้านใบยาว ๑-๑.๕ ซม.
ช่อดอกคล้ายช่อซี่ร่มเชิงประกอบ ช่อย่อยแบบช่อซี่ร่ม ออกตามปลายกิ่ง มีขนสั้นสีน้ำตาลแดง ก้านช่อยาว ๐.๕-๑ ซม. ช่อย่อยมี ๒-๖ ช่อ ช่อย่อยยาว ๑-๓ ซม. แต่ละช่อย่อยมี ๓-๘ ดอก ก้านดอกสีชมพู ยาว ๑-๑.๕ ซม. กลีบเลี้ยงยาว ๑.๕-๒ มม. ติดทน โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็นแฉกเล็กมาก ๕ แฉก รูปไข่ถึงรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๑ มม. ปลายมน ผิวไม่มีต่อมโปร่งแสงหรืออาจพบได้บ้างเพียง ๑-๒ ต่อม กลีบดอกสีชมพู ยาว ๕-๖ มม. โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อยปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปใบหอกแกมรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๓ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. ปลายแหลม ตามผิวไม่มีต่อม เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่โคนหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูรูปใบหอก ยาวประมาณ ๓.๕ มม.ปลายแหลม ด้านนอกไม่มีต่อมโปร่งแสง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลตั้งแต่จำนวนน้อยถึงมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๕-๖ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็กแหลม
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๗-๙ มม. ผิวมีต่อมโปร่งแสงกระจายทั่วไป ผลสุกสีแดงหรือสีคล้ำค่อนข้างดำ เมล็ดรูปคล้ายผล กว้างประมาณ ๖ มม. มี ๑ เมล็ด
จ้ำเครือมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเล ๖๐๐-๑,๔๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา จีน และเวียดนาม.