ข่าน้ำ

Alpinia nigra (Gaertn.) B. L. Burtt

ชื่ออื่น ๆ
กะลา, เร่ว (กลาง); เร่งน้อย (ยะลา)
ไม้ล้มลุกอายุหลายปี ขึ้นได้ทั้งบนบก และริมน้ำที่มีน้ำขัง ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้า ลำต้นเทียม ขึ้นเป็นกอแน่น ใบเรียงสลับเป็น ๒ แถว รูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ยอด ดอกสีขาว กลีบปากสีชมพูอ่อน ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลม

ข่าน้ำเป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง ๑.๕-๒ ม. ลำต้นใต้ดินเป็นเหง้าเลื้อย เส้นผ่านศูนย์กลาง ๓-๔ ซม. เนื้อในสีเหลืองอ่อนถึงขาว ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบอัดกันแน่น กาบที่ไม่มีแผ่นใบมี ๒-๓ กาบ ยาวได้ถึง ๔๐ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับเป็น ๒ แถว มี ๘-๑๓ ใบ รูปขอบขนาน กว้าง ๕.๕-๑๔.๕ ซม. ยาว ๒๘-๖๐ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม โคนสอบ ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายหนัง เส้นกลางใบสีเขียวอ่อน ด้านล่างสีเขียวอ่อน เส้นใบย่อยเรียบ เส้นแขนงใบไม่ชัดเจน มีจำนวนมาก เรียงขนานถี่ ก้านต่อกาบกับแผ่นใบยาว ๓-๕ มม. ลิ้นใบมนถึงหยักมนเป็น ๒ พู ยาว ๔-๕ มม. มีขนประปราย

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายลำต้นเทียม กว้าง ๑๒-๒๐ ซม. ยาว ๒๗-๓๒ ซม. ก้านช่อดอกเหนือใบยาว ๗-๑๕ ซม. มีขน แขนงช่อมีได้ถึง ๑๕ ช่อ แต่ละแขนงช่อมีใบประดับรูปแถบ กว้างประมาณ ๑.๒ ซม. ยาว ๑๒-๒๐ ซม. หลุดร่วงง่าย ใบประดับย่อยสีน้ำตาล รูปกรวยเบี้ยว ยาว ๑-๑.๒ ซม. ดอกสีเหลืองอมเขียว โคนสีชมพูอ่อน ก้านดอกยาวได้ถึง ๗ มม. มีขน กลีบเลี้ยงสีน้ำตาล โคนเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ยาวประมาณ ๑.๒ ซม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก ลึกไม่เท่ากัน ปลายแฉกแหลมหรือมน กว้าง ๔-๖ มม. ยาว ๓-๔ มม. กลีบดอกเป็นหลอดรูปกรวยแคบ ยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนประปราย ปลายแยกเป็น ๓ แฉก แฉกบน ๑ แฉก รูปขอบขนาน ปลายแหลม และงุ้มคล้ายหมวก กว้าง ๐.๖-๑ ซม. ยาว ๑.๗-๒ ซม. แฉกข้าง ๒ กลีบ รูปช้อนปลายงุ้ม กว้าง ๗-๘ มม. ยาว ๑.๔-๑.๖ ซม. ด้านนอกมีขน ด้านในเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๖ อัน แต่ ๕ อันได้เปลี่ยนไปเป็นเกสรเพศผู้เป็นหมันลักษณะคล้ายกลีบดอก สีชมพู รูปสามเหลี่ยมถึงรูปรี กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. และเป็นกลีบปากสีชมพูอ่อน รูปใบหอกกลับ กว้าง ๑-๑.๒ ซม. ยาว ๒.๕-๓ ซม. ปลายหยักเป็น ๒ แฉก ลึกประมาณ ๑.๕ ซม. มีเส้นสีชมพูจากโคนไปยังแต่ละแฉก เกสรเพศผู้ที่สมบูรณ์ ๑ อัน อับเรณูรูปหัวใจ สีขาวปนชมพูอ่อน กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. แตกตามยาวด้านหน้า ก้านชูอับเรณูสีขาวติดที่ฐาน ก้านแผ่เป็นแผ่นหุ้มก้านยอดเกสรเพศเมีย กว้าง ๒-๓ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปไข่กลับถึงรูปรี มีขน มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาว ๓-๓.๕ ซม. ยอดเกสรเพศเมียรูปกรวยแคบค่อนข้างแบน ปลายมนหรือเว้าเล็กน้อย มีขนสั้นประปราย

 ผลแบบผลแห้งแตก ผลอ่อนสีเขียว รูปกลม มีขนประปราย เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒ ซม. สุกสีดำ เมล็ดจำนวนมาก สีน้ำตาล

 ข่าน้ำมีการปลูกเลี้ยงกันทางภาคกลาง ที่จังหวัดนนทบุรี เช่น อำเภอปากเกร็ด อำเภอเกาะเกร็ด โดยปลูกตามสวน ตามริมน้ำ ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย

 ใช้หน่ออ่อนและช่อดอกอ่อนปรุงอาหารโดยเฉพาะอาหารมอญ เช่น ทอดมัน แกงส้ม ลวกจิ้มน้ำพริก ก๋วยเตี๋ยว แกงเลียงกะทิ ห่อหมก เป็นต้น.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ข่าน้ำ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Alpinia nigra (Gaertn.) B. L. Burtt
ชื่อสกุล
Alpinia
คำระบุชนิด
nigra
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Gaertner, Joseph
- Burtt, Brian Laurence
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Gaertner, Joseph (1732-1791)
- Burtt, Brian Laurence (1913-2008)
ชื่ออื่น ๆ
กะลา, เร่ว (กลาง); เร่งน้อย (ยะลา)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางทยา เจนจิตติกุล