กระเบียนเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๗-๑๓ ม. เปลือกสีเทาเข้มแกมน้ำตาลหรือน้ำตาลหม่น ล่อนออกเป็นแผ่นบาง ๆ เรือนยอดค่อนข้างเล็กไม่ได้สัดส่วน กิ่งก้านแข็งแรง อาจมีหนามตรงออกเป็นคู่ที่ข้อ
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่กลับ ค่อนข้างกลมหรือรี กว้าง ๒.๕-๗ ซม. ยาว ๒.๕-๑๐ ซม. ปลายมนหรือแหลมเป็นติ่งสั้น โคนสอบแคบเรียวลงไปจนถึงก้านใบขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น ปลายจรดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ แผ่นใบเกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน หรือมีขนนุ่มทางด้านล่าง ก้านใบสั้นมาก หูใบระหว่างก้านใบ รูปสามเหลี่ยม ๑ คู่ อยู่ตรงข้ามกัน
ดอกแยกเพศร่วมต้น สีขาวอมเหลือง ดอกเพศผู้ออกเป็นกระจุก กลิ่นหอม ก้านดอกสั้น กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๒-๓ มม. ปากหลอดกว้างกว่าโคน ปลายตัดกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๐.๗-๑.๓ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก เมื่อดอกบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒.๕ ซม. เกสรเพศผู้ ๕ อัน ไม่มีก้านชูอับเรณู อับเรณูรูปยาวเรียว ติดอยู่ภายในหลอดดอก ดอกเพศเมียออกเดี่ยวตามง่ามใบ ไม่มีกลิ่น กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาว ๐.๘-๒ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก กลีบดอกเหมือนกับดอกเพศผู้ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มีออวุลจำนวนมาก
ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปไข่หรือกลม ยาว ๒.๕-๗.๕ ซม. ค่อนข้างแข็ง เมล็ดแบน มีจำนวนมาก
กระเบียนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ขึ้นเป็นกลุ่มหรือขึ้นประปรายในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ในต่างประเทศพบที่อินเดียและพม่า
เนื้อไม้สีนวลอมเหลือง ละเอียด เสี้ยนค่อนข้างตรงแข็งพอประมาณ ใช้ทำเครื่องเรือน เครื่องมือเครื่องใช้ (กรมป่าไม้, ๒๕๒๖) ใบใช้ตำพอกรักษาแผลสด ดอกใช้ขยี้ทาแก้กลากเกลื่อน (โรงเรียนแพทย์แผนโบราณฯ, ๒๕๐๗) รากใช้แก้อาหารไม่ย่อยในเด็ก (Chopra et al, 1956).