จ้ำเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๑.๕-๔ ม.เปลือกสีน้ำตาลอมเทา
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแกมรูปไข่ถึงรูปใบหอกกลับหรือรูปรี กว้าง ๒.๕-๖ ซม. ยาว ๘-๒๔ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนแหลมหรือสอบคล้ายรูปลิ่ม ขอบเรียบเส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๙ เส้น เส้นกลางใบด้านบนเป็นร่อง เส้นกลางใบด้านล่างรวมทั้งเส้นแขนงใบและเส้นใบย่อยนูนเด่นชัด ผิวใบด้านล่างสีจางกว่าด้านบนและมักมีต่อมเล็กสีดำ ก้านใบยาว ๐.๕-๑ ซม.
ช่อดอกคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ ทั้งช่อยาวได้ถึง ๑๐ ซม. ก้านช่อยาว ๒.๕-๘ ซม. ช่อย่อยมี ๒-๘ ดอก ก้านดอกยาว ๑-๒ ซม. ดอกสีขาวหรือสีขาวแกมชมพู กลีบเลี้ยงติดทน โคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปไข่ กว้างประมาณ ๒.๕ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายมน ขอบเรียบ ค่อนข้างบางและมีขน ด้านนอกมีต่อมเล็ก ๆ สีม่วงถึงสีม่วงคล้ำ กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว ๑.๕-๒ มม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก รูปรีแกมรูปไข่กว้าง ๓.๕-๔ มม. ยาวประมาณ ๗ มม. ปลายแหลมตามผิวมีต่อมเล็กรูปค่อนข้างกลมหรือเรียวยาว สีม่วงถึงสีม่วงคล้ำ เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ติดที่โคนหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูรูปใบหอก ยาว ๕-๕.๕ มม. ปลายแหลม ด้านนอกมีต่อมโปร่งแสง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียว ยาว ๖-๗ มม. ยอดเกสรเพศเมียเล็กแหลม
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๖ มม. ผิวมีต่อมโปร่งแสงกระจายทั่วไป เมล็ดรูปคล้ายผล มี ๑ เมล็ด
จ้ำมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบขึ้นในป่าดิบ ตามไหล่เขาหินปูน ที่ชื้นและริมลำธาร ที่สูงจากระดับทะเล ๑,๑๐๐-๒,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ในต่างประเทศพบที่เมียนมา จีน และเวียดนาม.