ขานางเป็นไม้ต้น ผลัดใบ สูง ๒๐-๓๕ ม. เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ สำต้นตรง โคนต้นเป็นพอนเล็กน้อย เปลือกเรียบ สีเทาอมชมพูหรือสีเทาอมน้ำตาล เปลือกอาจมีสะเก็ดล่อนบ้างเล็กน้อยคล้ายเปลือกต้นตะแบก
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กลับ กว้าง ๗-๑๔ ซม. ยาว ๑๐-๒๕ ซม. ปลายมนกว้าง ปลายสุดคอดเป็นติ่งสั้น ๆ โคนสอบ ขอบจักฟันเลื่อย แผ่นใบหนา ด้านบนสาก ด้านล่างมีขนนุ่มสีเทาอมน้ำตาลหนาแน่น เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๕ เส้น เหยียดตรง เส้นใบย่อยแบบร่างแหเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบสั้นมาก มีขนทั่วไป
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ไม่แยกแขนง ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว ๑๒-๒๐ ซม.
ดอกเล็ก มีกลิ่นเหม็น กลีบเลี้ยงโคนติดกันคล้ายรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกรูปขอบขนานเล็ก ๆ ๕ แฉก มีขนนุ่มทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอกสีเหลือง ๕ กลีบ ยาวประมาณ ๑.๕ มม. เกสรเพศผู้มี ๕ อัน ก้านเกสรเพศผู้ยาวประมาณ ๒ มม. รังไข่กึ่งใต้วงกลีบ มีช่องเดียว มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวเรียว ๒-๓ อัน
ผลแบบผลแห้งไม่แตก ขนาดเล็ก ติดอยู่กับกลีบเลี้ยงรูปถ้วยที่ขยายใหญ่ แฉกของกลีบกางแผ่ออกคล้ายกับเป็นปีกของผล มีเมล็ดเดียว
ขานางมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ขึ้นในป่าดิบแล้งและป่าเบญจพรรณชื้น โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นภูเขาหินปูน ที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๕๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ลาว กัมพูชา และอินโดนีเซีย
ไม้ใช้ทำคานเกวียน คราด เครื่องเรือน กระดานพื้น เสา เสากระโดงเรือ กรุบ่อน้ำ ทำฟันสีข้าว ด้ามเครื่องมือเกษตร.