กระเบาใหญ่เป็นไม้ต้น สูง ๑๐-๒๐ ม. ลำต้นเปลา
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปใบหอกแกมรูปไข่ หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๑๐-๓๐ ซม. ปลายสอบเรียว โคนสอบหรือมน เบี้ยวเล็กน้อย ขอบเรียบ เส้นแขนงใบอยู่เยื้องกัน ข้างละ ๘-๑๐ เส้น ทั้งเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบ และเส้นใบย่อยเห็นได้ชัดทางด้านล่าง ก้านใบยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. หูใบเล็กร่วงง่าย
ดอกแยกเพศต่างต้น หรือดอกแยกเพศต่างต้นแกม ดอกสมบูรณ์เพศ โคนดอกสีชมพู ดอกเพศผู้ออกเดี่ยวตามง่ามใบ กลิ่นหอมมาก จึงมักเรียกว่า แก้วกาหลง ก้านดอกยาว ๑.๕-๓ ซม. กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ ยาว ๘-๙ มม. มีขนอ่อนนุ่มทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอก ๕ กลีบ รูปขอบขนานแกมรูปไข่ ยาว ๑.๒-๑.๔ ซม. โคนกลีบสีชมพู ปลายสีนวล และด้านในมีเกล็ดรูปแถบ เมื่อดอกบานทั้งกลีบเลี้ยงและกลีบดอกโค้งกลับ เกสรเพศผู้ ๕ อัน ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๕ มม. โคนก้านสีชมพูอ่อน อับเรณูติดที่ฐาน ดอกเพศเมียออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกเหมือนกับดอกเพศผู้ เกสรเพศผู้เป็นหมัน ๕ อัน รูปกระสวย ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๕ แฉก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปไข่หรือรูปไข่กลับ มีขนสั้น ๆ
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๘-๑๒ ซม. ผิวเรียบ เปลือกแข็ง มีขนหรือเกล็ดสีน้ำตาล มี ๓๐-๕๐ เมล็ด อัดกันแน่น รูปไข่เบี้ยว กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๑.๙ ซม. ปลายทั้ง ๒ ข้างมน
กระเบาใหญ่มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นตามป่าดิบ เขาหินปูน และตามริมน้ำ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๓๐-๑,๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบในภูมิภาคอินโดจีน
น้ำมันที่บีบได้จากเมล็ดเรียกว่า น้ำมันกระเบา (Chaulmoogra oil หรือ Hydnocarpus oil) มีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นกรด chaulmoogric และ hydnocarpic น้ำมันกระเบานำมาใช้รักษาโรคเรื้อนและโรคผิวหนัง เช่น โรคเรื้อนกวาง หิด นอกจากนี้ ยังใช้แก้อาการปวดบวมตามข้อ ใบและเมล็ด เป็นพิษ มี cyanogenetic glycocide เนื้อผลกินได้.