คูลูปากแหลม

Brachycorythis acuta (Rchb. f.) Summerh.

กล้วยไม้ดิน ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแกมรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ยอด ใบประดับรูปร่างคล้ายใบ ขนาดใหญ่กว่าดอก ดอกสีขาวอมชมพูหรือสีชมพูอมม่วง กลีบปากปลายแหลมถึงเรียวแหลมผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก เมล็ดเล็กเป็นผงมีจำนวนมาก

คูลูปากแหลมเป็นกล้วยไม้ล้มลุกหลายปี ขึ้นตามพื้นดิน มีหัวใต้ดิน สีน้ำตาลอ่อน รูปรี ยาวประมาณ ๓ ซม. มักอยู่เป็นคู่ ต้นเหนือดินรวมทั้งช่อดอกสูง ๒๐-๔๐ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีแกมรูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๒.๕ ซม. ยาว ๔-๙ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบเรียวและหุ้มต้น ใบใกล้โคนต้นมักเล็กกว่าใบที่อยู่ระดับเหนือขึ้นไป แผ่นใบบาง เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน นูนทางด้านล่าง เส้นจากโคนใบขนานกับขอบใบมักเห็นชัดเพียงข้างละ ๑ เส้น

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกที่ยอด ยาว ๘-๑๕ ซม. ใบประดับทั้งขนาดและรูปร่างคล้ายใบและใหญ่กว่าดอกเรียงเวียน แต่ละซอกใบประดับมีดอก ๑ ดอก ก้านดอกและรังไข่รวมกันยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. ดอกสีขาวอมชมพูหรือสีชมพูอมม่วง กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กลีบบนรูปใบหอก กว้าง ๓.๕-๔ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. กลีบด้านข้างรูปไข่แกมรูปใบหอก โคนเบี้ยว กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. กลีบดอก ๓ กลีบ กลีบด้านข้างรูปใบหอก กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๘ มม. กลีบปากรูปรีกว้าง ๐.๖-๑.๗ ซม. ยาว ๑-๒ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โค้งหรือม้วนลง ขอบใกล้ปลายหยักเป็นคลื่นโคนสอบเรียว เดือยกลีบปากรูปคล้ายกรวย ยาว ๖-๗ มม. ช่วงปลายเดือยแบนเล็กน้อยและปลายสุดหยักเป็นพูตื้น ๒ พู เส้าเกสรสูงประมาณ ๓ มม. อับเรณูแต่ละซีกรูปคล้ายกระบองโค้ง แตกตามยาว กลุ่มเรณูมี ๒ กลุ่ม แต่ละกลุ่มรูปรี ยาวประมาณ ๒ มม. มีก้านสั้นปุ่มเหนียว ปลายก้านรูปกลม รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๑.๕-๑.๘ ซม. เมล็ดเล็กเป็นผงมีจำนวนมาก

 คูลูปากแหลมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ พบขึ้นตามชายป่าดิบหรือป่าผลัดใบ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ในต่างประเทศพบทางตะวันออกของอินเดีย กัมพูชา และลาว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คูลูปากแหลม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Brachycorythis acuta (Rchb. f.) Summerh.
ชื่อสกุล
Brachycorythis
คำระบุชนิด
acuta
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Reichenbach, Heinrich Gustav
- Summerhayes, Victor Samuel
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Reichenbach, Heinrich Gustav (1824-1889)
- Summerhayes, Victor Samuel (1897-1974)
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.อบฉันท์ ไทยทอง