ขางอำไพเป็นไม้ล้มลุก สูง ๑๐-๘๐ ซม. โคนต้นแก่มีเนื้อแข็ง กิ่งแขนงชูยอดตั้งขึ้น ปลายกิ่งค่อนข้างแบน
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนานหรือรูปรีแคบแกมรูปใบหอก กว้าง ๒-๗ มม. ยาว ๑-๓ ซม. ปลายแหลมหรือมนและมีติ่งเล็ก ๆ โคนมนหรือเว้ารูปหัวใจตื้น ๆ ขอบเรียบและมีสีแดงเรื่อ แผ่นใบด้านบนสีเขียวเข้มกว่าและเส้นใบเห็นได้ชัดกว่าด้านล่าง ก้านใบสั้นมาก หูใบเล็กมาก รูปไข่ปลายแหลม
ดอกแยกเพศร่วมต้น ออกเดี่ยวหรือเป็นกลุ่ม ๒-๕ ดอก ตามง่ามใบ กลุ่มหนึ่ง ๆ มีดอกเพศเมีย ๑ ดอก ดอกเพศผู้เล็กมากและร่วงง่าย ก้านดอกสั้นมาก กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ เรียงสลับ ๒ ชั้น ชั้นละ ๓ กลีบ รูปไข่กลับหรือรูปไข่ป้อม กว้าง ๐.๕-๑ มม. ยาวใกล้เคียงกับกว้าง ปลายกลีบมนหรือแหลมเล็กน้อย ขอบกลีบบางและมีสีขาว ส่วนกลางแผ่นกลีบหนาและสีค่อนข้างแดง จานฐานดอกลดรูปลงคล้ายต่อมเล็ก ๆ ๖ อัน เรียงสลับกับกลีบเลี้ยง เกสรเพศผู้ ๓ อัน ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูเล็ก มี ๒ ช่อง แตกตามยาว ดอกเพศเมียก้านดอกสีแดง ยาว ๓-๖ มม. ปลายก้านเป็นเหลี่ยมและใหญ่กว่าส่วนโคน กลีบเลี้ยง ๖ กลีบ ลักษณะคล้ายกับกลีบเลี้ยงในดอกเพศผู้แต่แคบกว่า รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาวประมาณ ๑ มม. และใหญ่ขึ้นเล็กน้อยในขณะที่เป็นผลและติดทน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปกลมแป้น ผิวค่อนข้างขรุขระ มี ๓ ช่อง ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๓ อัน ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ฐานดอกค่อนข้างแบนขอบหยักเว้าโดยรอบ ๖ หยัก
ผลแบบผลแห้งแตก รูปค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๓ มม. มีก้านยอดเกสรเพศเมียติดอยู่ ผลแก่ผิวค่อนข้างเกลี้ยงหรือขรุขระน้อยกว่าผลอ่อน เมื่อแก่จัดแตกตามยาว ก้านผลยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. งอโค้งลงเล็กน้อย โคนก้านสีแดงและเรียวกว่าส่วนปลายซึ่งมีสีเขียวหรือเขียวอมแดงเรื่อ ๆ มีเมล็ด ๖ เมล็ด ขนาดเล็กมาก รูปคล้ายสามเหลี่ยม ผิวโดยรอบมีตุ่มเล็ก ๆ เรียงเป็นลายตามยาว
ขางอำไพมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ขึ้นในที่รกร้างและโล่งแจ้งตามพงหญ้าและทุ่งนา ป่าเบญจพรรณ ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ ๔๕๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน อินเดีย พม่า ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย.