ตาเสือชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูง ๒๐-๓๐ ม. เส้นรอบวง ๑.๕-๒ ม. ผลัดใบแต่ผลิใบใหม่ไว โคนต้นมักมีพูพอนแคบ สูงได้ถึง ๒ ม. เปลือกนอกสีน้ำตาลอ่อนปนสีเทา ค่อนข้างเรียบหรือแตกเป็นสะเก็ดยาวห้อยลง และมีช่องอากาศทั่วไป ส่วนเปลือกในเป็นเส้นใยสีเหลืองเข้ม กระพี้สีน้ำตาลแกมสีเหลืองอ่อน แก่นสีน้ำตาลเข้ม
ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียวปลายคู่ เรียงเวียนตามปลายกิ่ง ยาว ๑๕-๓๐ ซม. เกลี้ยง เมื่อใบร่วงเหลือรอยแผลใบชัด มีใบย่อย ๔-๑๐ ใบ เรียงเยื้องกันเล็กน้อย รูปรี กว้าง ๒-๖ ซม. ยาว ๙-๑๕ ซม. ปลายแหลมทู่ถึงเรียวแหลม โคนมนหรือรูปลิ่ม ขอบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบหนาและมักย่นเมื่อแห้ง ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสั้นนุ่ม เส้นกลางใบเป็นร่องทางด้านบน นูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๕-๑๐ เส้น เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย ปลายเส้นโค้งไปสู่ขอบใบ สังเกตเห็นได้ทางด้านล่าง เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๕-๑๐ ซม. โคนก้านขยายกว้าง เกลี้ยงและเป็นร่องทางด้านบน ก้านใบย่อยยาว ๐.๕-๑ ซม. เกลี้ยง
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงหรือช่อกระจุกเชิงประกอบ ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๓-๑๐ ซม. ทุกส่วนมีขนสั้นนุ่มประปราย ก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. มีขนสั้นนุ่ม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันคล้ายรูปถ้วย กว้าง ๒-๓ มม. ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ๔ แฉก ทุกส่วนมีขนนุ่มตามผิวด้านนอก ด้านในเกลี้ยง กลีบดอก ๔ กลีบ สีเหลืองอ่อน รูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๑ ซม. มีขนนุ่มทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้ ๘ เกสร พบน้อยที่มี ๑๐ เกสร โคนก้านชูอับเรณูเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาวประมาณ ๑ มม. ด้านนอกมีขนประปราย ด้านในเกลี้ยง จานฐานดอกรูปถ้วย สีแดง สูงประมาณ ๑.๕ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขนหนาแน่น มี ๔ ช่อง พบน้อยที่มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมีขนนุ่มทางครึ่งล่าง ยอดเกสรเพศเมียคล้ายรูปถ้วย
ผลแบบผลแห้งแตก ออกเป็นกระจุกตามปลายช่อ ทรงรูปไข่กลับ กว้าง ๕-๖ ซม. ยาว ๗-๘ ซม. ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่จัดสีออกส้มและแตกเป็น ๔ เสี่ยง พบน้อยที่แตกเป็น ๓ เสี่ยง ผนังผลหนาประมาณ ๑ ซม. แข็งเหมือนไม้ เกลี้ยง ด้านในสีออกส้มแกมสีเหลือง เมล็ดสีดำ รูปทรงรี กว้างประมาณ ๑.๕ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. มีเยื่อหุ้มเมล็ดสีส้มถึงสีแดงใกล้โคนเมล็ด
ตาเสือชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบชื้น ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๑๐๐-๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม เป็นผลเดือนมกราคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคมาเลเซียและออสเตรเลีย
ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องตกแต่งและทำสิ่งปลูกสร้างอาคารทั่วไป ผลเป็นอาหารของสัตว์ป่าบางชนิด.