ดุสิตา

Utricularia delphinioides Thorel ex Pellegr.

ชื่ออื่น ๆ
ดอกขมิ้น (ศรีสะเกษ); แตดข้า (อุบลราชธานี); หญ้าข้าวก่ำน้อย, หญ้าเข็ม (เลย)

ไม้ล้มลุกปีเดียว ขึ้นบนดินหรือบริเวณที่ชื้นแฉะ เป็นพืชกินสัตว์ มีไหลและส่วนคล้ายรากรูปเส้นด้าย ใบเดี่ยว เรียงเวียนหรือเรียงเวียนถี่เป็นกระจุกแบบกุหลาบซ้อน รูปแถบหรือรูปขอบขนานแกมรูปช้อน มีถุงดักจับขนาด เล็กอยู่ที่ไหลและใบ ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกเป็นช่อเดี่ยวที่ยอด ตั้งขึ้น ดอกสีน้ำเงิน สีม่วงคราม หรือสีม่วงเข้ม ผลแบบผลแห้งแตกแบบฝาเปิด รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่ เมล็ดขนาดเล็ก ทรงรูปไข่ เรียบ มีจำนวนมาก


     ดุสิตาเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว สูง ๙-๒๐ ซม. ขึ้นบน ดินหรือบริเวณที่ชื้นแฉะ เป็นพืชกินสัตว์ มีไหลรูปเส้นด้าย ส่วนคล้ายรากรูปเส้นด้าย แตกแขนง
     ใบเดี่ยว เรียงเวียนหรือเรียงเวียนถี่เป็นกระจุก แบบกุหลาบซ้อน รูปแถบหรือรูปขอบขนานแกมรูปช้อน กว้างประมาณ ๐.๕ มม. ยาว ๑-๒.๕ ซม. ปลายมนกลม โคนสอบเรียว ขอบเรียบ แผ่นใบบาง เกลี้ยง มีเส้นกลางใบ ๑ เส้น เส้นแขนงใบเห็นไม่ชัด ก้านใบสั้นมาก มักไม่มีใบ ขณะออกดอก มีถุงดักจับจำนวนมาก รูปไข่หรือรูปเกือบ กลม ยาว ๑-๒ มม. ส่วนใหญ่อยู่บริเวณไหลและใบ ในต้น ที่กำลังออกดอกอาจพบเพียง ๒-๓ ถุง ปากถุงอยู่ด้านข้าง มีรยางค์ ๒ อัน ยาวประมาณ ๑ มม. เปราะบางหักง่าย ด้านในมีขนแยกแขนงเป็น ๒ แฉก ก้านถุงดักจับยาว ประมาณ ๐.๒ มม.

 

 

 


     ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกเป็นช่อเดี่ยวที่ยอด ตั้งขึ้น ยาว ๑๐-๓๕ ซม. อาจพบบ้างที่ยาวได้ตั้งแต่ ๓ ซม. หรือยาวได้ถึง ๕๓ ซม. มีดอก ๗-๒๐ ดอก มักออกหนา แน่นบริเวณใกล้ปลายช่อ ดอกสีน้ำเงิน สีม่วงคราม หรือ สีม่วงเข้ม ก้านดอกยาว ๐.๑-๑.๒ ซม. ตั้งขึ้น ใบประดับ รูปไข่แกมรูปใบหอก กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๒.๕-๖ มม. ปลายแหลม ขอบเรียบ เกลี้ยง ติดที่โคนช่อดอก ใบประดับย่อยรูปแถบ กว้างประมาณ ๐.๓ มม. ยาว ๒-๔ มม. กลีบ เลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็นแฉกลึก ๒ แฉก ขนาด ไม่เท่ากัน แฉกบนรูปไข่ ปลายแหลม แฉกล่างรูปไข่แกม รูปใบหอก กว้าง ๓-๓.๕ มม. ยาว ๖-๘ มม. ปลายเว้าตื้น กลีบดอกรูปปากเปิด โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดสั้น กลีบ ปากซีกบนรูปเกือบกลม กว้าง ๑-๑.๒ ซม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ตั้งขึ้น ปลายมนกลม ขอบเรียบ โคนเรียวแคบ คล้ายก้านกลีบ ยาวประมาณ ๓ มม. กลีบปากซีกล่างรูป หัวใจกลับ แผ่กางออกเห็นเด่นชัดในแนวขนานกับพื้นหรือ ตั้งขึ้น ปลายเว้าตื้น ขอบเรียบ ด้านในสีน้ำเงินเข้มเหลือบ สีเงิน อาจมีขนหรือมีเส้นขีดสีขาว กลางกลีบดุ้งนูนเป็น กระพุ้ง โคนมีเดือยสีม่วงอ่อนถึงสีม่วงเข้ม รูปกรวย แคบ ยาว ๕-๙ มม. โค้งเล็กน้อย ปลายแหลม ชี้ลงอยู่ใน แนวขนานกับแฉกกลีบเลี้ยงแฉกล่าง เกสรเพศผู้ ๒ เกสร ติดอยู่ที่โคนกลีบปากซีกบน ก้านชูอับเรณูแบนและโค้ง ยาวประมาณ ๒ มม. อับเรณูมักเชื่อมติดกัน ยาวประมาณ ๑ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกระบอกแบน กว้าง ประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๑ ช่อง มีออวุล จำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมีย ๑ ก้าน สั้นมาก ยอด เกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก รูปครึ่งวงกลม ขนาดไม่ เท่ากัน
 

 

 


     ผลแบบผลแห้งแตกแบบฝาเปิด รูปทรงกลม หรือทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. เมล็ดทรงรูปไข่ เรียบ ขนาดประมาณ ๐.๓ มม. มีจำนวน มาก
     ดุสิตามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาค กลาง และภาคตะวันออกเฉียงใต้ พบขึ้นในบริเวณที่ชื้น แฉะที่เปิดโล่ง ในทุ่งหญ้า บนลานหินทราย และในนาข้าว ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๑,๓๐๐ ม. ออก ดอกและเป็นผลเดือนกันยายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศ พบที่ภูมิภาคอินโดจีน
     ประโยชน์ เป็นพืชสมุนไพร ใช้ทั้งต้นต้มน้ำดื่ม เข้าตำรับยาบำรุงเลือด.

 

 

 

 

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ดุสิตา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Utricularia delphinioides Thorel ex Pellegr.
ชื่อสกุล
Utricularia
คำระบุชนิด
delphinioides
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Thorel ex Pellegr.
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Thorel ช่วงเวลาคือ (1743-1828)
- Pellegr. ช่วงเวลาคือ (1881-1965)
ชื่ออื่น ๆ
ดอกขมิ้น (ศรีสะเกษ); แตดข้า (อุบลราชธานี); หญ้าข้าวก่ำน้อย, หญ้าเข็ม (เลย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางปริญญนุช กลิ่นรัตน์
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานพืช อักษร ด กองวิทยาศาสตร์อนุกรมวิธานพืช อักษร ด. pdf.