ขางหางเหล็ก

Synotis nagensium (C. B. Clarke) Jeff. & Y. L. Chen

ชื่ออื่น ๆ
ดอกไข่ปู (เลย)
ไม้พุ่ม ต้นเป็นร่อง ใบเรียงสลับ รูปไข่กลับหรือรูปใบหอก ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายยอดและง่ามใบ ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น ดอกย่อยมี ๒ แบบ ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน

ขางหางเหล็กเป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๒ ม. ลำต้นเป็นร่อง ตั้งตรง มีขนเป็นใยปกคลุม

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กลับหรือรูปใบหอก กว้างประมาณ ๗ ซม. ยาวประมาณ ๑๔ ซม. ปลายค่อนข้างแหลม โคนมน ขอบจักซี่ฟันละเอียดไม่สม่ำเสมอ ด้านบนค่อนข้างสากมือ ด้านล่างมีขนเป็นใยสีขาว เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๒ เส้น ขนานกัน เส้นใบย่อยเห็นชัดทางด้านบน ก้านใบยาวประมาณ ๑ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายยอด ประกอบด้วยช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น เรียงตัวคล้ายช่อซี่ร่ม แต่ละช่อมีขนสีขาวนุ่ม วงใบประดับชั้นนอกมี ๒-๓ ใบ รูปแถบ ยาวประมาณ ๓ มม. มีขนสีขาวนุ่มคล้ายเส้นไหม วงใบประดับชั้นในปลายแหลม ยาวประมาณ ๕ มม. ดอกวงนอกมี ๖-๘ ดอก รูปลิ้น ดอกวงในมีจำนวนมาก กลีบเลี้ยงเป็นพู่สีขาว กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกรูปสามเหลี่ยม ๕ แฉก มีเส้นกลีบ ๓ เส้น เกสรเพศผู้ ๕ อัน อับเรณูรูปไข่ติดกันทางด้านข้างเป็นหลอด หุ้มรอบก้านยอดเกสรเพศเมีย มีรยางค์ที่ปลาย รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ค่อนข้างเกลี้ยง รูปทรงกระบอก มี ๑ ช่อง และมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก ปลายตัด มีตุ่มทั่วไป

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ยาวประมาณ ๒ มม. มี ๕ สัน มีตุ่ม

 ขางหางเหล็กมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบบนดอยสูง เช่น ดอยสุเทพ ดอยอินทนนท์ ดอยเชียงดาว ในต่างประเทศพบที่อินเดียและพม่า.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขางหางเหล็ก
ชื่อวิทยาศาสตร์
Synotis nagensium (C. B. Clarke) Jeff. & Y. L. Chen
ชื่อสกุล
Synotis
คำระบุชนิด
nagensium
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Clarke, Charles Baron
- Linnaeus, Carl
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Clarke, Charles Baron (1832-1906)
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
ชื่ออื่น ๆ
ดอกไข่ปู (เลย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต