ตาฉู่แมชนิดนี้เป็นไม้ต้นหรือไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๑๕ ม. มีหนาม กิ่งอ่อนมีขนยาวห่างสีน้ำตาล กิ่งแก่สีน้ำตาลอมดำหรือสีดำอมม่วง แข็ง อ้วนสั้น
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ถึงรูปรี พบน้อยที่เป็นรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๕-๑๔ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือเรียวแหลมสั้น มีติ่งหนามมน พบน้อยที่กึ่งกลม โคนมนกลมถึงรูปคล้ายหัวใจที่ ๒ ข้าง ไม่เท่ากัน ขอบจักฟันเลื่อย ปลายหยักมน มีเส้นโคนใบ ๓ เส้น พบน้อยที่มี ๕ เส้น แผ่นใบบางคล้ายกระดาษด้านบนสีเขียวเข้ม เกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่มประปรายตามเส้นโคนใบ ด้านล่างสีเขียวอ่อนและมีขนสั้นนุ่ม หรือมีขนประปรายตามเส้นใบ หรือเกือบเกลี้ยง ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๑ ซม. มีขนยาวประปรายสีน้ำตาล หูใบเป็นหนาม ๑-๒ หู ตั้งตรง ยาว ๔-๖ มม. ร่วงง่าย
ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนง ออกตามซอกใบ แต่ละช่อกระจุกย่อยมีดอกได้ถึง ๑๐ ดอก ก้านช่อดอกยาว ๐.๗-๑.๖ ซม. มีขนยาวประปรายสีน้ำตาลดอกเล็ก สีเขียวหรือสีเขียวอมเหลือง ก้านดอกค่อนข้างสั้น กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเล็กน้อย รูปจานถึงรูปครึ่งวงกลม ปลายแยกเป็น ๔-๕ แฉก รูปสามเหลี่ยมแกมรูปไข่ ด้านนอกมีขนยาวห่าง ด้านในเกลี้ยง มีสันเห็นชัดถึงกลางกลีบ ปลายแหลม กลีบดอก ๔-๕ กลีบ รูปช้อนยาวเกือบเท่ากับเกสรเพศผู้ มีก้านกลีบ เกสรเพศผู้ ๔-๕ เกสร ก้านชูอับเรณูเรียวเล็กแนบติดกับโคนกลีบดอก อับเรณูเล็ก จานฐานดอกหนานุ่ม เห็นเป็น ๕ พู ส่วนที่เว้าตื้นเห็นชัดตรงด้านหน้าของเกสรเพศผู้ ขอบด้านนอกนูนเด่นรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงกลม มี ๒ หรือ ๓ ช่อง พบน้อยที่มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด พบน้อยที่มี ๒ เม็ด ส่วนปลายมีขนละเอียด ก้านยอดเกสรเพศเมียแยกลึก ๒ แฉก ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลมหรือรูปทรงรีแกมรูปทรงกลม กว้าง ๐.๘-๑.๑ ซม. ยาว ๑-๑.๒ ซม. เกลี้ยง เมื่อสุกสีน้ำตาลอมแดง โคนมีหลอดกลีบเลี้ยงและจานฐานดอกติดทน ปลายผลเป็นติ่งหนาม ก้านผลยาว ๐.๔-๑.๑ ซม. มีขนยาวห่าง ผนังผลชั้นกลางบาง ผนังชั้นในหนาประมาณ ๓ มม. เมล็ดสีน้ำตาลอมดำ เรียบ เป็นมัน มี ๑-๒ เมล็ด
ตาฉู่แมชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๙๐๐-๒,๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม เป็นผลเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เนปาล ภูฏาน เมียนมา และจีน
ประโยชน์ เนื้อไม้ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ ผลรับประทานได้และใช้เลี้ยงสัตว์.