คูนเป็นไม้ล้มลุกหลายปี สูงได้ถึง ๒ ม. ลำต้นตั้งตรงหรือทอดชูยอด เส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง ๑๐ ซม. ยาว ๒๐-๕๐ ซม. ไหลทอดนอน เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ มม. ยาว ๓๐-๔๐ ซม. สีเขียวอ่อน
ใบเดี่ยว เรียงเวียนแน่นที่ยอด รูปหัวใจกว้าง ๓๐-๗๐ ซม. ยาว ๕๕-๙๐ ซม. ปลายแหลม โคนรูปหัวใจแบบก้นปิด ขอบเป็นคลื่นหรือเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน ด้านบนสีเขียวด้านล่างสีเขียวอ่อนกว่าและมีนวล เส้นกลางใบนูนทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๖-๑๑ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาว ๐.๘-๑.๒ ม. เกลี้ยง สีเขียว มีนวล ครึ่งล่างเป็นกาบหุ้ม
ดอกแยกเพศร่วมช่อ ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบออกที่ยอด มี ๕-๘ ช่อ กาบหุ้มช่อดอกยาว ๑๑-๒๘ ซม. มีรอยคอด ส่วนที่อยู่เหนือรอยคอดสีขาวหรือสีขาวนวลรูปเรือ กว้าง ๓-๕.๕ ซม. ยาว ๗.๕-๒๐ ซม. ตั้งตรงปลายเรียวแหลม หลุดร่วงเมื่อติดผล ส่วนที่อยู่ใต้รอยคอดสีเขียว ม้วนขึ้นเป็นหลอด รูปรี เส้นผ่านศูนย์กลาง ๒.๕-๔ ซม. ยาว ๓.๕-๘ ซม. ติดทน ก้านช่อดอกรูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ ซม. ยาว ๑๐-๖๐ ซม. ส่วนที่เป็นช่อเชิงลดสั้นกว่ากาบหุ้มช่อดอก ไม่มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอก ตอนบนสุดเป็นรยางค์ สีขาวหรือสีขาวนวล ยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. ปลายแหลม ผิวแตกเป็นร่อง กลุ่มดอกเพศผู้อยู่ถัดลงมาจากรยางค์ รูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๒-๒ ซม. ยาว ๕-๑๔ ซม. มีดอกจำนวนมากเรียงชิดกันแน่นรอบแกนช่อ สีขาวหรือสีขาวนวล กลุ่มดอกเพศเมียอยู่ที่โคนช่อ รูปกรวย เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๒-๒.๕ ซม. มีดอกจำนวนมากเรียงชิดันรอบแกนช่อ สีเหลืองอ่อนกลุ่ม
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปขอบขนานเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๐.๕ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. สีเขียวหรือสีเขียวอมเหลือง เมล็ดจำนวนมากรูปทรงรี ยาวประมาณ ๑.๕ มม. มีสันนูนตามยาว
คูนมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ พบในป่าดิบและเขาหินปูน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๕๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน เป็นผลเดือนมิถุนายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่บังกลาเทศ จีนตอนใต้ ภูมิภาคอินโดจีน คาบสมุทรมลายู เกาะ บอร์เนียว สุมาตรา และชวา
ประโยชน์ ก้านใบและใบกินได้ ใช้เป็นผักสดและประกอบอาหาร ใบและก้านใบมีธาลุเหล็กมีผลึกแคลเซียมออกซาเลต และวิตามินชี.