ตาเสือชนิดนี้เป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๒๕ ม. ค่อนข้างเกลี้ยง
ใบประกอบแบบขนนกชั้นเดียว เรียงเวียน ยาวได้ถึง ๑ ม. มีใบย่อยได้ถึง ๒๐ ใบ เรียงตรงข้ามหรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปขอบขนานหรือรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๕-๘ ซม. ยาว ๒๐-๓๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนมนหรือรูปลิ่ม มักเบี้ยว ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น แผ่นใบหนา เกลี้ยง ด้านบนสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีจางกว่า เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๑๔ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดขึ้นไป เส้นใบย่อยเห็นชัด ก้านใบยาวได้ถึง ๑๒ ซม. มีขน ก้านใบย่อยยาวได้ถึง ๑ ซม. มีขน
ดอกสมบูรณ์เพศหรือแยกเพศ ช่อดอกแบบช่อกระจะหรือช่อแยกแขนง ออกที่ซอกใบ ใบประดับและใบประดับย่อยรูปใบหอกขนาดเล็กมาก ช่อดอกเพศผู้มักแยกแขนง ช่อดอกเพศเมียสั้น ไม่แยกแขนง ก้านดอกสั้นมากหรือไร้ก้าน กลีบเลี้ยงสีเขียว โคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ปลายแยกเป็น ๔ แฉก เห็นไม่ชัด มีขน กลีบดอกสีขาวแกมสีเหลืองอ่อน ยาวประมาณ ๖ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็น ๕ แฉก พบน้อยที่มี ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปแถบแกมรูปไข่กลับ ปลายแหลมและงุ้ม กลีบเรียงจดกันในดอกตูม เกสรเพศผู้ ๖ เกสร โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาวใกล้เคียงกับก้านยอดเกสรเพศเมีย หลอดด้านนอกมีขน ปลายหลอดแยกเป็นแฉกเล็ก ๖ แฉก แต่ละแฉกรูปขอบขนาน เกลี้ยง ส่วนปลายก้านชูอับเรณูที่แยกกันเล็กน้อยอยู่ใกล้ขอบปากหลอดและมีอับเรณูติดอยู่ด้านใน ยาวไม่พ้นกลีบดอก อับเรณูรูปขอบขนาน ขนาดเล็ก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขน มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวใกล้เคียงกับปากหลอดเกสรเพศผู้ มีขน ยอดเกสรเพศเมียรูปทรงกลมหรือรูปทรงกระบอกสั้น ขนาดเล็ก
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลมหรือทรงรูปไข่กลับ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔ ซม. ยาวได้ถึง ๕ ซม. เกลี้ยง ผลแก่สีน้ำตาล ก้านผลยาวประมาณ ๑ ซม. เมล็ดสีค่อนข้างดำ
ตาเสือชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ พบตามป่าดิบ ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๗๐๐-๑,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ในต่างประเทศพบที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียและเมียนมา.