ตาฉู่แมชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูง ๑.๕-๔ ม. ลำต้นตั้งตรง บางครั้งเลื้อยพัน โคนของส่วนยอดมีเกล็ดแหลม กิ่งเล็กเรียว เกลี้ยง มีขีดตามแนวตั้ง มีหนามตรง ยาว ๓-๔ มม. หรืออาจไม่พบหนาม
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๔.๕ ซม. ยาว ๔.๕-๑๑ ซม. ปลายสอบแหลมถึงแหลมเป็นติ่งยาวได้ถึง ๒ ซม. โคนรูปลิ่มหรือสอบแคบ ขอบเรียบแผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๗ เส้น โค้งและเชื่อมกันใกล้ขอบใบ เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นไม่ชัด ก้านใบเล็กเรียว ยาว ๐.๕-๑ ซม.
ดอกเดี่ยว เรียงเป็นแถวเหนือซอกใบใกล้ปลายกิ่ง มี ๑-๔ ดอก ก้านดอกยาว ๑-๒ ซม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ กว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๕-๖ มม. หนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านนอกเกลี้ยง ด้านในมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น เรียงเป็น ๒ คู่ กลีบคู่นอกรูปคล้ายเรือ กลีบคู่ในค่อนข้างแบน มีขนตามขอบ กลีบดอกสีขาว มี ๔ กลีบ เรียงซ้อนเหลื่อมกัน รูปขอบขนาน กว้าง ๒.๕-๓ มม. ยาว ๗-๘ มม. ค่อนข้างเท่ากันโคนกลีบคู่บนเชื่อมติดกัน ส่วนโคนกลีบคู่ล่างแยกกัน มีขนสั้นนุ่มหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูคล้ายเส้นด้าย ยาว ๒-๒.๕ ซม. อับเรณูยาวประมาณ ๐.๘ มม. ติดด้านหลัง มี ๒ ช่อง แตกตามยาวหันเข้าหาแกนดอก ก้านชูเกสรเพศเมียยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. เกลี้ยง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่หรือรูปทรงรี กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. เกลี้ยง มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมากหรือไร้ก้าน ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๗-๑.๒ ซม. ผนังผลบาง เกลี้ยง ก้านผลเล็กเรียว ยาว ๒.๕-๔ ซม. เมล็ดรูปไตเบี้ยว มี ๑-๒ เมล็ด
ตาฉู่แมชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบตามป่าละเมาะ ป่าดิบ และป่าผลัดใบ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๒,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม เป็นผลเดือนกันยายนถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา จีน และภูมิภาคอินโดจีน.