จ้าห้อมเป็นไม้ล้มลุกหลายปี สูงได้ถึง ๑.๕ ม.บริเวณข้อบวมพอง ลำต้นเป็นสันสี่เหลี่ยม กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่ม กิ่งแก่เกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปใบหอกหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๒-๓.๕ ซม. ยาว ๑๑-๒๐ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนสอบเรียวหรือรูปลิ่มขอบเรียบหรือหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยง มีผลึกหินปูนรูปแถบหนาแน่นทั่วแผ่นใบทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบด้านบนนูนเล็กน้อย ด้านล่างนูนชัดเจนและมีขนประปราย เส้นแขนงใบข้างละ ๗-๘ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เส้นแขนงใบและเส้นใบย่อยเห็นชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๑.๕-๒ ซม. ด้านบนเป็นร่องตื้น ๆ มีขนประปราย
ช่อดอกแบบช่อเชิงลด ออกที่ปลายกิ่งหรือซอกใบ ยาว ๓-๘ ซม. แกนกลางช่อดอกมีขนต่อมหนาแน่นก้านช่อดอกยาว ๒-๓.๕ ซม. มีขนสั้นนุ่มและมีต่อม ใบประดับสีขาวอมเหลือง มีเส้นใบสีเขียวเข้ม รูปขอบขนานหรือรูปใบหอก กว้าง ๒-๘ มม. ยาว ๑.๕-๒ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลมหรือมน ใบประดับย่อยรูปใบหอกหรือรูปแถบแกมรูปหอก ยาว ๖-๗ มม. ใบประดับและใบประดับย่อยมีขนต่อมหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน ก้านดอกสั้นหรือไร้ก้าน ดอกสีชมพูหรือสีม่วง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาวประมาณ ๗ มม. ปลายแยกเป็นแฉกลึก ๕ แฉก ขนาดเกือบเท่ากัน แฉกรูปใบหอก ปลายเรียวแหลมหรือยาวคล้ายหาง ด้านในมีขนประปราย กลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดแคบ ยาว ๔-๕ ซม. ปลายแยกเป็น ๕ แฉก ขนาดเกือบเท่ากันแฉกรูปไข่กลับ ปลายตัด กว้าง ๔-๕ มม. ยาวประมาณ ๙ มม. หลอดกลีบดอกยาวมากกว่าแฉกกลีบดอกด้านในหลอดเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๔ เกสร โผล่ไม่พ้นหลอดกลีบดอก ที่สมบูรณ์มี ๒ เกสร อีก ๒ เกสร เป็นหมัน ก้านชูอับเรณูเรียว ยาว ๓-๕ มม. เกลี้ยง อับเรณูรูปขอบขนานหรือรูปรี แต่ละอับมี ๒ พู รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่กลับหรือรูปทรงรี มีขนต่อม มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ๒-๔ มม. มีขนประปราย ยอดเกสรเพศเมียเป็นแฉกสั้น ๒ แฉก
ผลแบบผลแห้งแตกเป็น ๒ ซีก รูปทรงกระบอกหรือรูปทรงกระบอกปลายเรียว เมล็ดแบน มี ๔ เมล็ด รูปทรงกลมหรือเกือบกลม ผิวเป็นปุ่ม ก้านเมล็ดมีตะขอรูปร่างคล้ายเข็มปลายแหลม
จ้าห้อมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคกลาง พบตามริมลำธารในป่าดิบแล้งหรือป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐-๙๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนกันยายนถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา จีน และภูมิภาคอินโดจีน.