ขางหัวหมูเป็นไม้ต้นผลัดใบ สูง ๑๒-๒๕ ม. ลำต้นตรง เปลือกค่อนข้างหนา สีเทาอมดำ หรือสีเทาอมน้ำตาล ผิวขรุขระ แตกเป็นร่องตื้น ๆ ตามยาวไม่เป็นระเบียบ เปลือกด้านในสีเหลืองอ่อน เรือนยอดโปร่ง ตามกิ่งอ่อนมีขนนุ่มสีเหลืองทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว ระยะห่างระหว่างใบสม่ำเสมอ ใบรูปไข่หรือรูปขอบขนานแกมรูปรี กว้าง ๗-๑๕ ซม. ยาว ๙-๑๔ ซม. ปลายมนกว้าง ปลายสุดแหลมเป็นติ่งสั้น โคนมนกว้างหรือหยักเว้าตื้น และเบี้ยวเล็กน้อย แผ่นใบมีขนนุ่มทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๑๕ เส้น เหยียดตรง ปลายโค้งขึ้นใกล้ขอบใบ ก้านใบยาว ๒-๔ มม.
ช่อดอกแบบช่อกระจุก ออกตามกิ่งตรงข้ามกับใบหรือตามกิ่งที่ใบร่วงไปแล้ว มีดอกช่อละ ๒-๖ ดอก ก้านดอกเรียว ยาว ๖-๑๑ ซม. มีขนนุ่ม กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กลีบดอกสีขาวนวล เรียง ๒ วง วงละ ๓ กลีบ กลีบเลี้ยงและกลีบดอกวงนอกมีขนาดเล็ก รูปสามเหลี่ยมแคบ กลีบดอกวงในมีขนาดใหญ่กว่ามาก รูปไข่ กว้าง ๕-๗ มม. ยาว ๐.๙-๑.๒ ซม. ปลายแหลม โคนเป็นกระพุ้งเล็กน้อย เกสรเพศผู้และเกสรเพศเมียมีจำนวนมาก แยกกัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑-๒ เม็ด
ผลแบบผลกลุ่ม ออกเป็นกระจุกบนแกนตุ้มกลม ก้านช่อผลเรียว ยาว ๘-๑๓ ซม. ผลย่อยรูปไข่หรือรูปกลมรี มีขนนุ่ม ก้านผลค่อนข้างสั้น มี ๑-๒ เมล็ด
ขางหัวหมูมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันตก ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๒๐๐-๖๐๐ ม. ออกดอกระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ในต่างประเทศพบที่อินเดีย พม่า ลาว และเวียดนาม
เนื้อไม้สีเหลืองอ่อนอมเขียว เนื้อละเอียดแข็งปานกลาง ใช้ทำสิ่งก่อสร้างในร่ม เช่น กระดานพื้น ฝา หรือใช้ทำเสาเข็ม แจว พาย กรรเชียง.