กระเบากลมเป็นไม้ต้น สูง ๑๕-๒๐(-๓๐) ม. เปลือกสีเทา กิ่งมีขนกำมะหยี่
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปขอบขนาน กว้าง (๕-)๖.๕-๘(-๑๑) ซม. ยาว (๑๕-)๒๐-๓๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนเบี้ยว รูปลิ่มหรือมน ขอบเรียบ แผ่นใบหนา ด้านล่างตามเส้นกลางใบและเส้นแขนงใบมีขนแข็งเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล ใบแก่เกลี้ยง เส้นแขนงใบข้างละ ๘-๙(-๑๐) เส้น เส้นใบย่อยเห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบบวมพองตรงส่วนที่ติดกับโคนใบ ยาว ๑.๕-๒(-๓) ซม. หูใบร่วงง่าย
ดอกแยกเพศต่างต้นหรือร่วมต้น สีขาว กลิ่นหอมออกเป็นช่อกระจุกตามง่ามใบ ช่อดอกเพศผู้ออกตามกิ่งอ่อน มี ๒-๓ ดอก มีขนกำมะหยี่สีสนิม ก้านช่อดอกสั้นมาก ก้านดอกยาว ๖-๘ มม. กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ รูปกลม กว้าง ๐.๘-๑ ซม. กลีบดอก ๑๒-๑๓ กลีบ รูปค่อนข้างกลมถึงรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๔ มม. ยาว ๖-๗ มม. ผิวเกลี้ยงหรือมีขนสั้นนุ่ม ประมาณกลางกลีบหรือค่อนไปทางปลายกลีบมีเกล็ดที่ฐานยาวประมาณครึ่งหนึ่งหรือ ๓ ใน ๔ ของกลีบดอก มีเนื้อ ปลายแยกเป็น ๓ แฉก มีขนสีค่อนข้างแดง เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเกลี้ยง ช่อดอกเพศเมีย
ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปกลม สีน้ำตาล เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑๒-๑๕ ซม. ผลอ่อนค่อนข้างเกลี้ยง เมื่อแก่มีรอยย่น มีเมล็ดประมาณ ๕๐ เมล็ด ติดกันแน่น รูปหลายเหลี่ยม กว้างประมาณ ๓.๕ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม.
กระเบากลมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบและป่าเบญจพรรณ ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลจนถึงประมาณ ๙๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่าและเวียดนามตอนใต้.