ตองแข้งเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๗ ม.
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปรีหรือรูปรีแคบ กว้าง ๒-๑๕ ซม. ยาว ๗-๔๕ ซม. ปลายเรียวแหลมถึงเป็นติ่งแหลม โคนมนเว้าตื้นหรือสอบเรียว ขอบจักซี่ฟันหรือหยักมนถี่ ปลายซี่ฟันเป็นต่อม แผ่นใบค่อนข้างหนาคล้ายแผ่นหนัง เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบข้างละ ๑๐-๒๕ เส้น เส้นแขนงใบอาจเชื่อมกันใกล้ขอบใบด้านบน เส้นใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว ๒-๑๐ ซม. อาจมีต่อมที่ใกล้ปลายก้าน หูใบรูปสามเหลี่ยมแคบ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๐.๗-๑ ซม. เมื่อร่วงมีรอยแผลต่ำกว่าใบประมาณ ๒ ซม.
ดอกแยกเพศต่างต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงออกตามซอกใบ ช่อดอกยาวถึง ๒๕ ซม. มีขนคล้ายไหมดอกสีขาวถึงสีนวลหรือสีขาวอมเขียวอ่อน ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้กว้าง ๒.๕-๓.๕ มม. ก้านดอกยาวประมาณ ๑ มม. กลีบเลี้ยง ๓-๔ กลีบ รูปรีหรือรูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ มม. เรียงจดกัน เกสรเพศผู้มีประมาณ ๓๐ เกสร แยกกัน จานฐานดอกจักเป็นพูระหว่างเกสรเพศผู้ อับเรณูมี ๒ ช่อง แกนอับเรณูรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า ไม่มีเกสรเพศเมียเป็นหมัน ดอกเพศเมียกว้างประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ก้านดอกยาวประมาณ ๑.๕ มม. มีกลีบเลี้ยงลักษณะคล้ายใบประดับ ๕ กลีบ รูปรี กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ มม. จานฐานดอกเป็นวงแหวนหรืออาจเห็นไม่ชัด ยาวประมาณ ๐.๕ มม. ขอบจักเป็นพู มีขนรังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ กว้าง ๒.๕-๓ มม. ยาว ๒-๒.๕ มม. มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ไม่มีก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแยกเป็น ๓ แฉก
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงเกือบกลม มี ๓ พู กว้าง ๐.๕-๑.๕ ซม. ยาว ๐.๔-๑ ซม. เกลี้ยงถึงมีขนคล้ายไหม เมล็ดทรงรูปไข่กลับ กว้าง ๐.๔-๐.๗ มม. ยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. มีจุกขั้ว
ตองแข้งมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบตามป่าดิบ มักพบใกล้แหล่งน้ำที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๑,๐๐๐ ม. ออกดอกเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน ในต่างประเทศพบที่คาบสมุทรมาเลเซียและอินโดนีเซีย.