ตองงุม

Pothos chinensis (Raf.) Merr.

ชื่ออื่น ๆ
คอกิ่วย่าน (สุรินทร์); คากเข็บ, ตนวา (เชียงใหม่); ตะขาบเขียว (เลย); พลูช้าง (ใต้); มาบซัวนี (ม้ง-น่า
ไม้เลื้อยหลายปี กึ่งอิงอาศัย มีรากเกาะเลื้อย ลำต้นค่อนข้างแข็ง รูปทรงกระบอกหรือเป็นสี่เหลี่ยมเล็กน้อย ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปไข่ รูปรี หรือรูปใบหอก ก้านใบมีปีกกว้าง ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกตามซอกใบ มี ๑-๒ ช่อ ดอกสีเหลืองอ่อนหรือสีขาว รูปทรงกลม รูปทรงเกือบกลม หรือทรงรูปไข่ มีก้านสีเขียว ตั้ง กาบช่อดอกสีเขียวอ่อนถึงสีเขียว ดอกสมบูรณ์เพศ ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ช่อผลมี ๑-๕ ผล ผลคล้ายรูปกระบองกลับ ทรงรูปไข่ หรือรูปทรงรี สีเขียว สุกสีแดง มีเมล็ด ๑ เมล็ด พบน้อยที่มีได้ถึง ๓ เมล็ด

ตองงุมเป็นไม้เลื้อย กึ่งอิงอาศัย ยาวได้ถึง ๑๐ ม. มีรากเกาะเลื้อย ช่วงแรกอิงอาศัย ต่อมาเจริญเติบโตมากขึ้นและมีรากลงสู่ดิน ลำต้นค่อนข้างแข็ง รูปทรงกระบอกหรือเป็นสี่เหลี่ยมเล็กน้อย เส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง ๑.๒ ซม. สีเขียว เมื่ออายุมากขึ้นสีน้ำตาลอมเทา กิ่งที่สร้างช่อดอกมักแตกแขนง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว มีจำนวนมาก แบบเดียวตลอดทั้งลำต้น รูปไข่ รูปรี หรือรูปใบหอก กว้าง ๑.๕-๔ ซม. ยาว ๓-๒๑ ซม. ปลายแหลม เรียวแหลม หรือเป็นติ่งหนาม โคนมนกลมหรือมน ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เมื่อแห้งบางคล้ายกระดาษ ด้านบนสีเขียวถึงสีเขียวเข้ม ด้านล่างสีอ่อนกว่า เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นแขนงใบออกจากโคนหรือใกล้โคนเส้นกลางใบโค้งไปสู่ปลายใบข้างละ ๒-๔ เส้น เส้นนอกสุดอยู่ใกล้ขอบใบ หรือเส้นแขนงใบออกจากเส้นกลางใบทั้ง ๒ ข้างแบบขนนก เส้นใบย่อยเฉียงขึ้นเชื่อมกับ



เส้นแขนงใบเป็นแบบร่างแห ก้านใบมีปีกกว้าง รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ รูปขอบขนานแกมรูปแถบ หรือรูปสามเหลี่ยมแคบ กว้าง ๐.๕-๒ ซม. ยาว ๕-๑๔ ซม. ปลายตัด มนกลม หรือรูปติ่งหู

 ช่อดอกแบบช่อเชิงลดมีกาบ ออกตามซอกใบ มี ๑-๒ ช่อ โคนก้านช่อดอกมีใบที่เปลี่ยนรูปเป็นเกล็ดหุ้มสีเขียว เรียงสลับโอบซ้อนกัน ๔-๖ เกล็ด ยาว ๐.๓-๑.๕ ซม. หนาคล้ายแผ่นหนัง กาบช่อดอกสีเขียวอ่อนถึงสีเขียว บางครั้งมีรอยแต้มสีม่วง รูปไข่กว้าง กว้าง ๐.๔-๑ ซม. ยาว ๐.๔-๑.๒ ซม. ลักษณะเป็นแอ่งคล้ายเรือ ปลายแหลมหรือเป็นติ่งหนามเล็ก โคนเว้ารูปหัวใจโอบก้านช่อดอก ขอบม้วนขึ้น กาบหนาคล้ายแผ่นหนัง ติดทนจนเป็นผล ก้านช่อดอกสีเขียวหรือสีเขียวมีแต้มสีน้ำตาล กว้าง ๑.๕-๒.๕ มม. ยาว ๐.๓-๒.๕ ซม. ตั้งหรือโค้ง อยู่ใต้กาบช่อดอก ช่อดอกแบบมีก้านสีเหลืองอ่อนหรือสีขาว รูปทรงกลม รูปทรงเกือบกลม หรือทรงรูปไข่ กว้าง ๐.๓-๑ ซม. ยาว ๐.๓-๑.๓ ซม. ก้านเหนือกาบช่อดอกสีเขียว ตั้งขึ้น กว้าง ๑-๑.๓ มม. ยาว ๐.๕-๑ ซม. มีดอกจำนวนมากเรียงชิดกันรอบแกนช่อ ดอกสมบูรณ์เพศมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒ มม. กลีบรวม ๖ กลีบ เชื่อมติดกัน เกสรเพศผู้ ๖ เกสร ก้านชูอับเรณูแบน รูปขอบขนาน แกนอับเรณูเรียว พูอับเรณูรูปทรงรี รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ไร้ก้านยอดเกสรเพศเมีย ยอดเกสรเพศเมียรูปครึ่งทรงกลมแกมรูปคล้ายจาน

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด ช่อผลมี ๑-๕ ผล ผลคล้ายรูปกระบองกลับ ทรงรูปไข่ หรือรูปทรงรี กว้าง ๑-๑.๔ ซม. ยาว ๑-๑.๘ ซม. สีเขียว สุกสีแดง พบบ่อยที่โคนผลมีกลีบรวมบางคล้ายกระดาษ ติดทน มีเมล็ด ๑ เมล็ด พบน้อยที่มีได้ถึง ๓ เมล็ด

 ตองงุมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบเกาะเลื้อยตามหิน ตามลำต้นและกิ่งของไม้ต้น ในป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง และป่าดิบเขา ที่สูงจากระดับทะเลปานกลาง ๒๕๐-๒,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินเดีย (อัสสัม) เนปาล ภูฏาน บังกลาเทศ เมียนมา ทิเบต จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และภูมิภาคอินโดจีน

 ตองงุมมีลักษณะคล้ายตะเข็บ (Pothos scandens L.) ต่างกันที่ตองงุมมีก้านเหนือกาบช่อดอกตั้งขึ้น ขนาดใหญ่กว่า (กว้าง ๑-๑.๓ มม.) สีเขียว กิ่งที่สร้างช่อดอกมีจำนวนช่อดอกน้อย และพบบ่อยที่ช่อดอกออกเป็นคู่ กาบช่อดอกสีเขียวอ่อนถึงสีเขียว แต่ตะเข็บมีก้านเหนือกาบช่อดอกโค้ง ขนาดเล็กกว่า (กว้าง ๐.๓-๑ มม.) สีเขียวอ่อน สีม่วงอมแดง หรือสีม่วง กิ่งที่สร้างช่อดอกมีจำนวนช่อดอกมาก ช่อดอกออกเดี่ยว กาบช่อดอกสีเขียวอ่อน สีม่วงอมแดง หรือสีม่วง.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตองงุม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Pothos chinensis (Raf.) Merr.
ชื่อสกุล
Pothos
คำระบุชนิด
chinensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Radlkofer, Constantine Samuel
- Merrill, Elmer Drew
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Radlkofer, Constantine Samuel (1783-1840)
- Merrill, Elmer Drew (1876-1956)
ชื่ออื่น ๆ
คอกิ่วย่าน (สุรินทร์); คากเข็บ, ตนวา (เชียงใหม่); ตะขาบเขียว (เลย); พลูช้าง (ใต้); มาบซัวนี (ม้ง-น่า
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย และนางสาวมณทิรา เกษมสุข