งัวซัง

Capparis thorelii Gagnep.

ชื่ออื่น ๆ
เกี้ยไก่, หนามวัวเลีย (นครราชสีมา); นกกิ้ง (ชัยภูมิ); วัวซัง (เลย)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก กิ่งก้านเล็กเรียวมีหนามโค้งแข็ง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบกึ่งช่อซี่ร่ม ออกที่ปลายยอด ดอกสีขาว ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ดรูปทรงกลม เมล็ดรูปไตเบี้ยว มี ๑-๒ เมล็ด

งัวซังเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๑-๕ ม. บางครั้งพบเลื้อยพัน กิ่งก้านเล็กเรียว มีขนสั้นนุ่ม มีหนามโค้งแข็ง ยาว ๓-๕ มม.

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี กว้าง ๑-๒.๕ ซม. ยาว ๑.๕-๔ ซม. ปลายมนและเว้าบุ๋ม โคนมน ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา มีขนสั้นนุ่มตามเส้นกลางใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๔-๖ เส้น เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๓-๖ มม.

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ช่อย่อยแบบกึ่งช่อซี่ร่ม ออกที่ปลายยอด ก้านดอกยาว ๑-๑.๒ ซม. ดอกสีขาว กลีบเลี้ยง ๔ กลีบ รูปไข่แกมรูปใบหอกกลับ กว้างประมาณ ๒ มม. ยาว ๕-๗ มม. ขอบกลีบบาง กลีบดอก ๔ กลีบ รูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๓ มม. ยาว ๗-๘ มม. กลีบดอกบาง ด้านในมีขนสั้นนุ่มที่โคนกลีบ เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๑.๕ ซม. ก้านชูเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๑.๕ ซม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. ปลายแหลม มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้นมาก ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มกลม

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๒.๕ ซม. เปลือกหนาและแข็ง ผิวเรียบ เมื่ออ่อนสีส้ม ก้านผลเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑-๔ มม. ยาว ๒-๓.๕ ซม. เมล็ดรูปไตเบี้ยว กว้างประมาณ ๑ ซม. ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. มี ๑-๒ เมล็ด

 งัวซังมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาคยกเว้นภาคใต้ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณและป่าโปร่ง ที่สูงจากระดับทะเล ๔๐-๔๐๐ ม. ออกดอกเดือนธันวาคมถึงมีนาคม เป็นผลเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
งัวซัง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Capparis thorelii Gagnep.
ชื่อสกุล
Capparis
คำระบุชนิด
thorelii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Gagnepain, François
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1866-1952)
ชื่ออื่น ๆ
เกี้ยไก่, หนามวัวเลีย (นครราชสีมา); นกกิ้ง (ชัยภูมิ); วัวซัง (เลย)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.ก่องกานดา ชยามฤต