คร้งต้นเป็นไม้พุ่มรอเลื้อย ลำต้นสีเขียวอ่อนมีข้อตามลำต้น ปล้องมักเป็นสี่เหลี่ยมตามยาว เมื่ออ่อนมีขนนุ่มประปราย แกนกลางลำต้นอ่อนหรือกลวง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปรี รูปไข่ หรือรูปไข่แกมรูปใบหอก กว้าง ๓-๗ ซม. ยาว ๘-๑๖ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนมนและเว้าเข้าเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนเกลี้ยงเป็นมันหรืออาจมีขนบ้างประปราย ด้านล่างมีขนนุ่มหรือสาก เส้นใคนใบ ๓(-๕) เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแห เห็นชัดทั้ง ๒ ด้านก้านใบยาว ๐.๕-๒.๕ ซม. ขอบร่องก้านใบมักมีขนสั้น ๆ
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ยาว ๑๐-๒๕ ซม. ช่อย่อยแบบช่อกระจุก ออกตรงข้ามกัน โคนช่อมีใบประดับ ๑ คู่ ใบประดับรูปใบหอก กว้าง ๐.๕-๑ ซม. ยาว ๒.๕-๕ ซม. ฐานดอกรูประฆังหรือรูปคนโท กว้าง ๓-๔ มม. ยาว ๕-๘ มม. มีขนนุ่มทั่วไป กลีบเลี้ยงเล็กมาก โคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๔ แฉก ปลายแฉกตัดและแผ่กว้างออกเมื่อดอกบานเต็มที่ กลีบดอกซ้อนเหลื่อมกัน ๔ กลีบ รูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๕-๗ มม. ยาว ๐.๘-๑ ซม. ด้านนอกสีม่วงหรือสีชมพู ด้านในสีขาวสีม่วงอ่อน หรือสีชมพูอ่อน เกสรเพศผู้ ๘ เกสร สมบูรณ์เพียง ๔ เกสร ยาว ๑-๑.๕ ซม. เกสรเพศผู้ที่เป็นหมันสั้นกว่าเล็กน้อย ช่วงระหว่างโคนอับเรณูกับปลายก้านชูอับเรณูโค้งงอและหักเป็นข้อ รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๔ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียเดี่ยว ยาว ๑-๑.๕ ซม. ปลายเรียวแหลม
ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด รูปทรงรีหรือรูปคนโท สีนํ้าเงินอมม่วง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖-๗ มม. กลีบเลี้ยงติดทนที่ปลายผล เมล็ดเล็ก มีจำนวนมาก
คร้งต้นมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันตกเฉียงใต้และภาคใต้ พบขึ้นตามชายป่าดิบ ป่าเบญจพรรณชื้น และป่าหญ้าที่ค่อนข้างชุ่มชื้นที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับนํ้าทะเลถึงประมาณ ๑,๒๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนมกราคมถึงเมษายนในต่างประเทศพบที่พม่า ลาว เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ ใบมีรสเปรี้ยวใช้เป็นอาหารและใช้เป็นสมุนไพร.