กรวยแหลมเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๓๐ ม. โคนต้นเป็นพอนแผ่กว้างถึง ๒ ม. และสูงได้ถึง ๑ ม. เปลือกหยาบ สีน้ำตาลอมเทา และมักล่อนออกเป็นแผ่น กิ่งอ่อนมีขนราบประปราย กิ่งแก่เกลี้ยง มีช่องอากาศกระจายทั่วไป
ใบเดี่ยว เรียงสลับระนาบเดียว รูปไข่แกมรีถึงรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๖ ซม. ยาว ๑๐-๑๔ ซม. ปลายเรียวแหลมหรือเป็นติ่งแหลม ยาวถึง ๒ ซม. โคนมนกว้างเว้าเป็นรูปหัวใจเล็กน้อยหรือสอบเรียว อาจเบี้ยวเล็กน้อยขอบเรียบหรือเป็นคลื่น เส้นกลางใบนูน เห็นชัดทางด้านล่างเส้นแขนงใบข้างละ ๗-๘ เส้น ค่อนข้างขนานกัน เส้นใบย่อยแบบร่างแหละเอียด เห็นไม่ชัดทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๐.๘- ๑.๒ ซม. ด้านบนเป็นร่องตามยาว หูใบรูปไข่ค่อนข้างแคบกว้างประมาณ ๑ มม. ยาว ๒-๓ มม.
ดอกแยกเพศร่วมต้น สีนวล ใบประดับเล็ก ร่วงง่าย ช่อดอกเพศผู้แบบช่อกระจะ ออกเหนือรอยแผลใบ แต่ละดอกกลม
ผลแบบผลเมล็ดเดียวแข็ง รูปไข่ กว้าง ๐.๘-๑.๒ ซม. ยาวประมาณ ๒ ซม. ปลายมีติ่งยาวประมาณ ๕ มม. ก้านผลยาวได้ถึง ๓ ซม.
กรวยแหลมมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าดิบและป่ากึ่งผลัดใบใกล้ลำธาร บนพื้นที่ระดับน้ำทะเลจนถึงสูงประมาณ ๑,๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีน ฮ่องกง อินเดีย ศรีลังกา ภูมิภาคอินโดจีน และภูมิภาคมาเลเซีย