ชะเอมเทศเป็นไม้ล้มลุกหลายปี โคนมีเนื้อไม้ลำต้นสูง ๐.๓-๑.๕ ม. มีต่อมโปร่งแสงรูปคล้ายเกล็ดและมีขนสีขาวหนาแน่น เปลือกสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลเข้ม
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาว ๕-๑๔ ซม. มีใบย่อย ๙-๑๗ ใบ เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานแกมรูปไข่ รูปใบหอกแกมรูปขอบขนานหรือรูปรี กว้าง ๐.๘-๒ ซม. ยาว ๑.๗-๔ ซม. ปลายมนหรือเว้าบุ๋ม โคนมน ขอบเรียบ ด้านบนเกือบเกลี้ยงหรือมีขนยาวประปราย ด้านล่างมีต่อมโปร่งแสงรูปคล้ายเกล็ดสีเหลืองหนาแน่นและมีขนสั้นนุ่ม ตามเส้นใบมีขนต่อมสีน้ำตาลอมเหลืองและมีขนอุยหนาแน่นก้านใบย่อยสั้นมากหรือยาวประมาณ ๑ มม. หูใบ ๒ หู รูปแถบ ยาว ๑-๒ มม. ร่วงง่าย
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบ ยาว ๕-๑๒ ซม. มีดอกหนาแน่น แกนกลางมีต่อมโปร่งแสงรูปคล้ายเกล็ดสีน้ำตาล มีขนอุยสีขาวและมีขนสั้นนุ่มหนาแน่น ใบประดับรูปใบหอก ยาวประมาณ ๒ มม. บางเป็นเยื่อ ร่วงง่าย ดอกรูปดอกถั่ว กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆัง ยาว ๕-๗ มม. มีต่อมโปร่งแสงสีเหลืองประปรายและมีขนสั้นนุ่ม ปลายแยกเป็น ๕ แฉก แฉกบน ๒ แฉกเกือบเชื่อมติดกัน กลีบดอกสีม่วงหรือสีม่วงอ่อน กลีบกลางรูปไข่หรือรูปขอบขนาน ยาว ๑-๑.๑ ซม. โคนมีก้านกลีบ ปลายเว้าบุ๋ม กลีบคู่ข้างยาว ๘-๙ มม. กลีบคู่ล่างเหยียดตรง ยาว ๗-๘ มม. เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร มี ๙ เกสรที่เชื่อมติดกันเป็นกลุ่ม อีก ๑ เกสร แยกเป็นอิสระ ไม่มีก้ารังไข่ รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปขอบขนาน เกลี้ยง มี ๑ ช่อง ออวุล ๒-๘ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียโผล่พ้นเกสรเพศผู้ ยอดเกสรเพศเมียแบบก้นปิด
ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว รูปขอบขนานแบน กว้าง ๔.๕-๗ มม. ยาว ๑.๗-๓.๕ ซม. อาจคอดระหว่างเมล็ด ผิวเรียบ เกลี้ยงหรือมีขนประปรายบางครั้งพบขนต่อม เมล็ดแบน รูปทรงค่อนข้างกลมหรือรูปคล้ายไต เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๒ มม. สีเขียวเข้ม ผิวเรียบเป็นมัน มี ๒-๘ เมล็ด
ชะเอมเทศเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ นำเข้ามาทดลองปลูกในประเทศไทย พบในเขตอบอุ่นเกือบทั่วโลก มักขึ้นตามริมถนน ริมทางน้ำ บริเวณดินเค็มหรือดินกร่อย ที่สูงจากระดับทะเล ๕๐๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอกเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน เป็นผลเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน
ประโยชน์ รากและเหง้ามีรสหวาน ใช้ปรุงแต่งอาหารและยา ทำให้ชุ่มคอ ขับเสมหะ แก้ไอ แก้เจ็บคอ ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ และต้านการอักเสบของข้อ.