ตาวเป็นปาล์มลำต้นเดี่ยว สูงได้ถึง ๒๐ ม. เส้นผ่านศูนย์กลางต้น ๔๐-๖๐ ซม. มีกาบใบเก่ารวมโคนก้านใบติดตามลำต้น
ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงเวียน ยาว ๖-๑๒ ม. แต่ละต้นมี ๒๐-๓๐ ใบ มีใบย่อย ๒๔๐-๓๒๐ ใบ เรียงสลับไม่เป็นระนาบเดียว รูปแถบ
ดอกแยกเพศร่วมต้น ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง มี ๔-๖ ช่อ ออกตามซอกกาบใบ ยาว ๑.๕-๒.๕ ม. ปลายมักห้อยลง ช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียออกไม่พร้อมกัน ช่อดอกเพศเมียส่วนมากออกที่ปลายยอด มีใบประดับรูปสามเหลี่ยมจำนวนมาก ดอกสีขาวอมเขียว มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกอย่างละ ๓ กลีบ
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงค่อนข้างกลมเส้นผ่านศูนย์กลาง ๕-๗ ซม. ผลอ่อนสีเขียวอมเหลือง สุกสีส้มถึงสีแดง ผิวเรียบ ผนังผลชั้นกลางมีเนื้อ มีสารที่ทำให้ผิวหนังแสบคัน เมล็ดรูปทรงค่อนข้างกลม เรียบ มี ๑-๓ เมล็ด
ตาวมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ในประเทศไทยนิยมปลูกทั่วไปตามพื้นที่ชนบท บริเวณพื้นที่ราบ และพื้นที่อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางจนถึงประมาณ ๖๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่จีนตอนใต้และภูมิภาคมาเลเซีย
ประโยชน์ ยอดอ่อนและแกนกลางลำต้นนำมารับประทานได้ น้ำหวานจากช่อดอกสามารถแปรรูปเป็นน้ำตาลโดยการเคี่ยวให้งวด นำไปหมักเป็นน้ำตาลเมาหรือไวน์ หรือหมักเป็นน้ำส้มสายชูหรือน้ำส้มชุก (ภาคเหนือ) ใช้ปรุงอาหารหรือทำกระแช่ ผลตาวนำไปต้มแล้วแกะเอาเมล็ดอ่อนนำมารับประทานได้ สามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง เช่น ลูกชิดเชื่อม ลูกชิดปี๊บ ลูกชิดกระป๋อง และลูกชิดอบแห้ง.