จ๊าเมี่ยง

Camellia connata (Craib) Craib

ชื่ออื่น ๆ
เมี่ยงย่าอาม, เมี่ยงอีอาม (เหนือ)
ไม้ต้น กิ่งอ่อนมีขนหนาแน่น เมื่อแก่ค่อนข้างเกลี้ยง ตายอดทรงรูปไข่หรือรูปทรงรี ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ รูปรี รูปรีแกมรูปไข่กลับหรือรูปใบหอกกลับ ดอกเดี่ยว ออกตามซอกใบ ดอกตูมรูปค่อนข้างกลม เมื่อบานสีขาวหรือสีนวล มีเกสรเพศผู้จำนวนมาก สีเหลือง ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดรูปทรงกลม มีขนาดเล็ก สีน้ำตาล

จ๊าเมี่ยงเป็นไม้ต้น สูงได้ถึง ๑๐ ม. กิ่งอ่อนมีขนหนาแน่น เมื่อแก่ค่อนข้างเกลี้ยง ตามกิ่งแขนงมักมีตายอดซึ่งประกอบด้วยกาบขนาดเล็กโค้งหุ้มซ้อนกัน ทรงรูปไข่หรือรูปทรงรี ยาว ๐.๖-๑ ซม.

 ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่ รูปรี รูปรีแกมรูปไข่กลับ หรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๔-๘ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนรูปลิ่ม ขอบจักฟันเลื่อย อาจพบขอบเรียบได้บ้างเฉพาะตามบริเวณใกล้โคนใบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง ด้านบนสีเขียวเข้ม เป็นมัน ด้านล่างสีจางกว่าและมีนวล เส้นกลางใบนูนเด่นชัดทางด้านล่างเส้นแขนงใบข้างละ ๖-๙ เส้น ปลายเส้นโค้งจดกับเส้นถัดไปก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาว ๕-๘ มม. ด้านบนเป็นร่อง

 ดอกเดี่ยว พบน้อยมากที่ออกเป็นกลุ่ม ๒-๓ ดอก ออกตามซอกใบ ดอกตูมรูปค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๑ ซม. เมื่อบานกว้างไม่เกิน ๓ ซม. ก้านดอกยาวประมาณ ๘ มม. ใบประดับรูปไข่ ขนาดเล็ก มีขนกลีบเลี้ยง ๕ กลีบ รูปไข่ กว้างประมาณ ๗ มม. ยาวประมาณ ๙ มม. กลีบดอก ๕ กลีบ สีขาวหรือสีนวล รูปไข่กลับ กว้างประมาณ ๘ มม. ยาว ๑-๑.๓ ซม. ร่วงง่ายเกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเรียว ยาวประมาณ ๑ ซม. โคนมักเชื่อมติดกันเป็นวงรอบหรือเป็นหลอดสั้นอับเรณูติดแบบไหวได้ รูปขอบขนาน ยาว ๑.๕-๒.๕ มม. สีเหลือง รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มีขน มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนน้อย ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวปลายแยกเป็น ๓ แฉก ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่มเล็ก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงค่อนข้างกลม กว้างประมาณ ๑.๘ ซม. ยาวได้ถึง ๒.๘ ซม. มีขน มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดรูปทรงกลม มีขนาดเล็ก สีน้ำตาล

 จ๊าเมี่ยงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบตามป่าดิบ ริมลำธาร ที่สูงจากระดับทะเล ๖๐๐-๒,๐๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่อินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
จ๊าเมี่ยง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Camellia connata (Craib) Craib
ชื่อสกุล
Camellia
คำระบุชนิด
connata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant (1882-1933)
ชื่ออื่น ๆ
เมี่ยงย่าอาม, เมี่ยงอีอาม (เหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางจารีย์ บันสิทธิ์