แข้งกว่างเป็นกล้วยไม้อิงอาศัย เจริญทางยอดต้นยาว ๑-๕ ซม. รากยาวแยกแขนง
ใบเดี่ยว เรียงสลับและซ้อนกัน รูปขอบขนาน กว้าง ๒-๓ ซม. ยาว ๕-๘ ซม. ปลายหยักเว้าตื้นไม่เท่ากัน โคนใบโอบล้อมต้น แผ่นใบอวบ หนาประมาณ ๒ มม. พับกลางตามยาวคล้ายราง
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกเป็นช่อเดี่ยวหรือแยกแขนงตามข้อโคนต้น ทั้งก้านช่อ แกนช่อ และก้านดอกมีขนก้านช่อยาว ๓-๗ ซม. แกนช่อยาว ๔-๗ ซม. ใบประดับที่ก้านช่อรูปใบหอก ยาว ๐.๘-๑ ซม. ใบประดับย่อยรูปไข่ ยาวประมาณ ๖ มม. ปลายเรียวแหลม ใบประดับและใบประดับย่อยติดทน ก้านดอกและรังไข่ยาวรวมกันประมาณ ๒ มม. ดอกสีขาวอมชมพู เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มม. กลีบเลี้ยง ๓ กลีบ กลีบบนรูปรี กว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๒.๕ มม. กลีบด้านข้างรูปรี กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ด้านนอกของกลีบเลี้ยงทั้ง ๓ กลีบ มีขนและสันนูนยาวตลอดกลีบกลีบดอก ๓ กลีบ กลีบด้านข้างรูปรี กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๑.๕ มม. กลีบที่เป็นกลีบปากช่วงปลายรูปไข่แกมรูปสามเหลี่ยม กว้างและยาวประมาณ ๑ มม. หูกลีบปากยาวประมาณ ๑ มม. ขอบมีขน เดือยกลีบปากรูปคล้ายถุง ยาวประมาณ ๑.๕ มม. ปลายมน เส้าเกสรสั้น
ผลแบบผลแห้งแตก รูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๔ มม. ยาวประมาณ ๖ มม. เมล็ดจำนวนมาก ขนาดเล็กคล้ายผง
แข้งกว่างมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยเกือบทุกภาค ยกเว้นภาคกลางและภาคใต้ พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณและป่าผลัดใบ ที่สูงจากระดับทะเล ๑๐๐-๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนธันวาคมถึงมีนาคม ในต่างประเทศพบที่ลาวและกัมพูชา.