ต้างเขมรเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้น สูงได้ถึง ๕ ม. ส่วนยอดมีขนหนาแน่น กิ่งมีหนาม
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปมือ ขอบหยักเว้าลึกเป็น ๕-๗ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่กลับ กว้าง ๑๐-๑๒ ซม. ยาว ๑๖-๑๘ ซม. ปลายแหลม ขอบจักฟันเลื่อยถี่ โคนแผ่นใบตัดหรือรูปหัวใจ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนเกลี้ยงด้านล่างมีขนรูปดาว ขนหนาแน่นตามเส้นใบ เส้นจากโคนใบ ๕-๗ เส้น นูนทั้ง ๒ ด้าน ปลายเส้นแขนงใบโค้งเชื่อมเข้าหากัน เส้นใบย่อยแบบร่างแห ก้านใบยาวประมาณ ๓๕ ซม. หูใบรูปไข่หรือรูปใบหอก กว้างประมาณ ๕ มม. ยาวประมาณ ๑ ซม. ติดทน
ช่อดอกแบบช่อซี่ร่มเชิงประกอบ ยาว ๒๐-๓๐ ซม. ออกตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ก้านช่อดอกยาว ๓-๖ ซม. มีขน ใบประดับรูปใบหอก ยาวประมาณ ๗ มม. แกนช่อดอกมีขนรูปดาวประปรายถึงหนาแน่น ช่อย่อยมี ๑๓-๑๕ ช่อ แต่ละช่อกว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาว ๑.๕-๒.๕ ซม. มี ๒๕-๓๕ ดอก ก้านดอกยาว ๐.๗-๑.๒ ซม. มีขนละเอียด ใบประดับย่อยขนาดเล็ก ยาว ๒-๓ มม. ดอกสีค่อนข้างขาวถึงสีขาวอมเขียว กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ ขนาดเล็ก กลีบดอก ๕ กลีบ รูปใบหอกแกมรูปสามเหลี่ยมกว้างประมาณ ๑.๕ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. เรียงจดกันในดอกตูม ด้านนอกมีขนสั้นนุ่ม เกสรเพศผู้ ๕ เกสร ก้านชูอับเรณูแยกกันเป็นอิสระ อับเรณูรูปรี รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มีขน มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๒ มม. ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง ก้านช่อยาว ๔-๑๒.๕ ซม. ก้านผลยาว ๑-๑.๕ ซม. ผลอ่อนทรงรูปไข่ถึงรูปทรงกลม เมื่อแก่รูปทรงกลมแป้น สูงประมาณ ๗ มม. กว้างประมาณ ๙ มม. สีเขียว เมื่อสุกสีดำ ปลายผลมีก้านยอดเกสรเพศเมียติดทน ยาว ๑.๕-๒ มม. เปลือกผลเรียบ เกลี้ยง
ต้างเขมรมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคตะวันออก ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับทะเลปานกลางถึงประมาณ ๖๐๐ ม. ออกดอกเดือนตุลาคมถึงธันวาคมเป็นผลเดือนมีนาคมถึงตุลาคม ในต่างประเทศพบที่ลาวและเวียดนาม.