ตาลแสดเป็นปาล์มขนาดกลาง สูงได้ถึง ๑๒ ม. ลำต้นเดี่ยว สีเทาถึงสีน้ำตาลอมเทา ตั้งตรง เส้นผ่านศูนย์กลางสำต้นประมาณ ๒๐ ซม. เกลี้ยง มีรอยแผลใบเป็นวงรอบลำต้น
ใบเดี่ยว เรียงเวียน แต่ละต้นมีประมาณ ๑๖ ใบ รูปมือแกมขนนก กว้าง ๑.๔-๑.๖ ม. ยาว ๑.๕-๑.๖ ม. ปลายแยกเป็นแฉกลึกตามแนวรัศมีถึงกึ่งกลางใบ แต่ละแฉกรูปใบหอก ขนาดไม่เท่ากัน กว้าง ๒-๘ ซม. ยาว ๐.๒-๑.๑ ม. แฉกช่วงโคนใบมีขนาดเล็กที่สุด พับจีบไม่เป็นระเบียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง มีนวลสีขาวทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบนูนเด่นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบ ๖๔-๖๘ เส้น มีเส้นใบย่อยจำนวนมากขนานกับเส้นแขนงใบ เห็นไม่ชัด ก้านใบยาว ๐.๘-๑.๑ ม. แข็ง ด้านบนส่วนปลายแบน ส่วนโคนเป็นร่อง มีรอยแยกรูปสามเหลี่ยมทางด้านล่าง ขอบเรียบ มีนวลสีขาว กาบใบรูปสามเหลี่ยม ยาว ๖๐-๘๐ ซม. ขอบเป็นเส้นใยสานกันเป็นร่างแห ยาว ๑-๕ ซม. ตามผิวกาบใบ เส้นกลางใบ เส้นแขนงใบ และก้านใบมีนวลสีขาวและขนปุยสีขาวนวลหนาแน่น
ดอกแยกเพศต่างต้น ออกตามซอกใบ ช่อดอกออกแล้วต้นไม่ตาย ช่อดอกเพศผู้แบบช่อแยกแขนง ช่อแขนงย่อยแบบช่อเชิงลด มี ๒-๓ ช่อ โคนแบนทั้ง ๒ ด้าน มีร่องแคบทางด้านบน แกนกลางยาวกว่าก้านช่อดอก ใบประดับเป็นกาบ มี ๑-๒ ใบ เรียงห่างกันเล็กน้อยบนก้านช่อดอก ใบประดับย่อยแข็ง เรียงซ้อนเหลื่อมแน่น ขอบเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ดอกสีเหลืองอ่อน กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก มนกลม ไม่สมมาตร กลีบดอกรูปใบพาย ปลายมน มีสันทางด้านบน โคนเชื่อมติดกันเป็นก้าน ปลายแยกเป็น ๓ แฉก เกสรเพศผู้ ๑๕-๓๐ เกสร ก้านชูอับเรณูสั้น อับเรณูติดด้านหลัง แตกตามยาวทางด้านข้าง มีเกสรเพศเมียที่เป็นหมันรูปขอบขนาน
ผลคล้ายผลผนังชั้นในแข็ง ทรงรูปไข่กลับหรือรูปทรงกระบอก ผนังผลชั้นนอกเรียบ ผนังผลชั้นกลางมีเนื้อ มีผลึกรูปเข็มที่ทำให้ผิวหนังแสบคัน ผลอ่อนสีเขียวอมหลือง สุกสีเขียวปนสีดำ มียอดเกสรเพศเมียติดทน เมล็ดทรงรูปไข่ รูปทรงกระบอก หรือรูปทรงรี กว้าง ๒-๒.๔ ซม. ยาว ๕-๕.๕ ซม. เกลี้ยง ปลายเมล็ดแยกเป็น ๓ แฉก มีสันตามยาว ๑ สัน เห็นชัด มี ๑-๓ เมล็ด
ตาลแสดเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในเกาะโรดริเกส (Rodrigues) ซึ่งเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย ในประเทศไทยพบปลูกทั่วไป
ประโยชน์ นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามสวนพฤกษศาสตร์ สวนสาธารณะ หรือตามอาคารบ้านเรือน เมล็ดอ่อนรับประทานได้ (Dransfield et al., 2008).