จ๊าม่วงเป็นไม้ต้น สูง ๔-๓๐ ม. ส่วนต่าง ๆ เมื่ออ่อนมีขนนุ่ม เมื่อแก่เกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงเวียน รูปไข่กลับ รูปขอบขนานแกมรูปรี หรือรูปใบหอกกลับ กว้าง ๒.๕-๘ ซม. ยาว ๖-๒๕ ซม. แผ่นใบค่อนข้างหนา เป็นมัน ปลายมนหรือแหลมโคนสอบ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๘-๒๒ เส้น เส้นใบย่อยเกสรเพศผู้แบบร่างแห เห็นชัดทางด้านล่าง ก้านใบแบน ยาว ๑.๕-๓.๕ ซม.
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกตามปลายยอดมีขนเล็กน้อยหรือเกลี้ยง มักยาวกว่าใบ ใบประดับรูปไข่ กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. มีขนเล็กน้อย ก้านดอกยาวประมาณ ๒ มม. กลีบเลี้ยงกว้างประมาณ ๓ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. โคนเชื่อมติดกัน ปลายจักเป็น ๕ แฉก ปลายแฉกค่อนข้างมน กลีบดอกสีขาว มี ๕ กลีบ รูปขอบขนานแกมรูปรี กว้างประมาณ ๒ มม. ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายมน เกสรเพศผู้ ๑๐ เกสร ก้านชูอับเรณูยาวประมาณ ๒ มม.ปลายสีขาว อับเรณูรูปเงี่ยงลูกศร กว้างประมาณ ๑ มม. ยาวประมาณ ๒ มม. จานฐานดอกรูปถ้วยตื้น กว้างประมาณ ๑ มม. ขอบหยัก รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๕ รังไข่ แยกจากกัน ที่สมบูรณ์มีเพียง ๑ รังไข่ มีขนสั้นนุ่มมี ๑ ช่อง ออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียสั้น ยอดเกสรเพศเมียเป็นตุ่ม
ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลมหรือทรงรูปไข่เบี้ยว ขนาดประมาณ ๑ ซม. แบนเล็กน้อย มีขนประปราย ผลอ่อนสีเขียวอ่อน สุกสีม่วง เมล็ดโป่งข้างเดียว มี ๑ เมล็ด
จ๊าม่วงมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบขึ้นตามป่าดิบ บริเวณริมห้วยหรือริมน้ำตั้งแต่ที่ราบใกล้ระดับทะเลถึงประมาณ ๓๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่อินเดีย เมียนมา ภูมิภาคอินโดจีน ไต้หวัน มาเลเซีย และออสเตรเลีย.