กระบากทอง

Anisoptera curtisii Dyer ex King

ไม้ต้น ตกชันสีขาวตามลำต้น กิ่งอ่อนและใบอ่อนมีขนใบเรียงสลับ รูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบ ดอกสีขาว ผลแบบผลแห้งไม่แตกรูปกลม มีปีกยาว ๒ ปีก ปีกสั้น ๓ ปีก

กระบากทองเป็นไม้ต้น สูง ๑๕-๓๐ ม. ลำต้นเปลาเรือนยอดเป็นพุ่มกลม เปลือกสีน้ำตาลแกมเทา แข็งและแตกเป็นร่องลึกตามยาวลำต้น ตกชันสีขาว กิ่งอ่อนและใบอ่อนมีขนสีเหลืองเป็นกระจุกแน่น

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปรี รูปไข่กลับ หรือรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๕.๕ ซม. ยาว ๕-๙.๕ ซม. ปลายใบกว้าง ปลายสุดแหลมเป็นติ่งสั้น ๆ และมักหักพับไปทางใดทางหนึ่ง โคนมนหรือเว้าเล็กน้อย ขอบเรียบ แผ่นใบค่อนข้างหนา ด้านบนเกลี้ยง เมื่อแห้งสีน้ำตาลอมแดง เส้นกลางใบเป็นร่องลึก ด้านล่างมีขนนุ่มหรือเกลี้ยงและมีเกล็ดสีเหลือง เมื่อแห้งสีค่อนข้างเหลือง เส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๒๐ เส้น ค่อนข้างตรงและปลายจรดกันก่อนถึงขอบใบ ก้านใบยาว ๑.๕-๓.๕ ซม. มีขนเป็นกระจุกทั่วไป

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ยาวไม่เกิน ๑๕ ซม. ห้อยลงช่อหนึ่ง ๆ มี ๓-๑๐ ดอก ดอกสีขาว กลีบเลี้ยงแหลมและมีขนเป็นกระจุกทั่วไป กลีบดอกรูปใบหอก ยาวประมาณ ๕ มม. มักบิดเบี้ยวและปลายกลีบพับกลับ เกสรเพศผู้มีประมาณ ๒๕ อัน รังไข่ถึงใต้วงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ค่อนข้างกลม

 ผลแบบผลแห้งไม่แตก รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ ๑.๓ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม มีปีกยาวรูปใบพาย ๒ ปีก เส้นปีก ๓ เส้น

 กระบากทองมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบบริเวณใกล้ริมน้ำ บนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๑๐๐ ม. ในต่างประเทศพบที่พม่า มาเลเซีย เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว

 เนื้อไม้สีน้ำตาลอมเหลืองอ่อน ใช้ทำแบบหล่อคอนกรีตแจว ลังใส่ของ และเครื่องเรือน.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
กระบากทอง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Anisoptera curtisii Dyer ex King
ชื่อสกุล
Anisoptera
คำระบุชนิด
curtisii
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Dyer, William Turner Thiselton (Thistleton)
- King, George
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Dyer, William Turner Thiselton (Thistleton) (1843-1928)
- King, George (1840-1909)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางลีนา ผู้พัฒนพงศ์