เขืองแข้งม้า

Boehmeria siamensis Craib

ไม้พุ่ม ทุกส่วนมีขนสาก ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามรูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่ ดอกแยกเพศร่วมต้นหรือต่างต้น ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลด ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ ดอกสีเขียวอ่อนหรือสีเหลืองอ่อนผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ทรงรูปไข่ มีกลีบเลี้ยงติดทนเมล็ดเล็ก มี ๑ เมล็ด รูปสามเหลี่ยม

เขืองแข้งม้าเป็นไม้พุ่ม สูง ๒-๔ ม. ไส้กลางอ่อนและมักเป็นโพรง ทุกส่วนมีขนสาก

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม ขนาดไม่เท่ากัน รูปรี รูปขอบขนาน หรือรูปไข่ กว้าง ๓-๑๒ ซม. ยาว ๑๐-๒๔ ซม. ปลายแหลม โคนสอบหรือมน ขอบจักฟันเลื่อยถี่ จักฟันเลื่อยหรือหยักซี่ฟัน แผ่นใบค่อนข้างหนา เส้นโคนใบมี ๓ เส้น เส้นแขนงใบจากเส้นกลางใบอยู่ค่อนไปทางปลายใบข้างละ ๓-๔ เส้น เส้นใบย่อยเห็นชัดทางด้านล่างผิวใบด้านล่างสีจางและมีขนมากกว่าทางด้านบน ก้านใบยาว ๐.๕-๑.๕ ซม. หูใบรูปสามเหลี่ยมแกมรูปใบหอกกว้างประมาณ ๐.๕ ซม. ยาวประมาณ ๑ ซม.

 ดอกแยกเพศร่วมต้นหรือต่างต้น ช่อดอกคล้ายช่อเชิงลด ออกตามซอกใบหรือเหนือรอยแผลใบ กระจุกละ ๑-๓ ช่อ แต่ละช่อยาว ๑๐-๑๕ ซม. ช่อโค้งอ่อนหรือห้อยย้อยลง ก้านช่อยาวประมาณ ๕ มม. มีขนแน่น ดอกสีเขียวอ่อนหรือสีเหลืองอ่อน ไม่มีกลีบดอก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ๔-๖ ซม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก ยาวประมาณ ๑ มม. ด้านนอกมีขน ดอกเพศผู้มีเกสรเพศผู้ ๔ เกสร อยู่ตรงกับแฉกกลีบเลี้ยง ก้านชูอับเรณูติดที่ฐาน ดอกเพศเมียกลีบเลี้ยงคู่นอกจะมีขนาดเล็กกว่าคู่ในซึ่งยาวประมาณ ๒ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ รูปทรงรีหรือทรงรูปไข่ ยาวประมาณ ๑.๕ มม. มี ๑ ช่อง และมีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวแหลม ยาวประมาณ ๑ มม. ทุกส่วนมีขน ยอดเกสรเพศเมียมีขนาดเล็ก

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดล่อน ทรงรูปไข่ ยาวประมาณ ๒ มม. เกลี้ยง มีกลีบเลี้ยงติดทน เมล็ดเล็ก มี ๑ เมล็ด รูปสามเหลี่ยม

 เขืองแข้งม้ามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคเหนือ พบขึ้นตามชายป่าดิบเขาและทุ่งหญ้า ที่สูงจากระดับทะเล ๑,๓๐๐-๑,๕๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนตุลาคมถึงมกราคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมา จีน ลาว และเวียดนาม

 ประโยชน์ เส้นใยใช้ทำเชือก.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เขืองแข้งม้า
ชื่อวิทยาศาสตร์
Boehmeria siamensis Craib
ชื่อสกุล
Boehmeria
คำระบุชนิด
siamensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.จำลอง เพ็งคล้าย