ขางนาง

Tristaniopsis merguensis (Griff.) Peter G. Wilson & J. T. Waterh.

ชื่ออื่น ๆ
ขานาง (ชุมพร)
ไม้ต้น แตกกิ่งต่ำ เปลือกสีน้ำตาลอมแดงหรือเทาอมชมพู แตกเป็นสะเก็ดยาว ใบเรียงเวียน รูปไข่กลับ ใบอ่อนสีชมพู ใบแก่จัดก่อนร่วงสีแดง ดอกเดี่ยวหรือออกรวมเป็นกระจุกตามง่ามใบ สีเหลือง ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลม เมล็ดมีปีกบาง

ขางนางเป็นไม้ต้น สูง ๖-๑๕ ม. เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ค่อนข้างโปร่ง ลำต้นแตกกิ่งต่ำ เปลือกสีน้ำตาลอมแดงหรือสีเทาอมชมพู มักมีสะเก็ดเป็นแผ่นยาวรอบโค้นต้น

 ใบเดี่ยว เรียงสลับเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง รูปไข่กลับ กว้าง ๑.๕-๕ ซม. ยาว ๔-๑๐ ซม. ปลายมนหรือแหลมเป็นติ่งสั้น โคนสอบเรียวลงมาตามก้านใบที่ไม่ปรากฏชัด แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นแขนงใบเรียงขนานกันไม่ต่ำกว่าข้างละ ๒๐ เส้น ปลายจรดกับเส้นขอบใบ ใบอ่อนสีชมพู ใบแก่ก่อนร่วงเปลี่ยนเป็นสีแดง

 ดอกเดี่ยวหรือออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ สีเหลือง เมื่อบานกว้าง ๑.๑-๑.๓ ซม. กลีบเลี้ยงโคนติดกันคล้ายรูปถ้วย ปลายแยกเป็นแฉกเล็กเรียว ๕ แฉก กลีบดอก ๕ กลีบ ขนาดเล็กร่วงง่าย เกสรเพศผู้สีเหลือง ติดกันเป็น ๕ มัด แต่ละมัดมีเกสรเพศผู้ ๓-๕ อัน รังไข่กึ่งใต้วงกลีบ มี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุลจำนวนมาก

 ผลแบบผลแห้งแตก รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๑-๑.๓ ซม. ฐานผลติดอยู่ในกลีบเลี้ยงรูปถ้วย ผลแก่แตกตามยาวบริเวณส่วนบนออกเป็น ๓ เสี่ยง เมล็ดขนาดเล็กมีจำนวนมาก มีปีกบาง

 ขางนางมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบหรือป่าชายหาด ตามฝั่งทะเล และตามสันเขาชายป่าดิบเขา ในต่างประเทศพบที่พม่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเกาะบอร์เนียว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ขางนาง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Tristaniopsis merguensis (Griff.) Peter G. Wilson & J. T. Waterh.
ชื่อสกุล
Tristaniopsis
คำระบุชนิด
merguensis
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Griffith, William
- Wilson, Peter Gordon
- Waterhouse, John Teast
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Griffith, William (1810-1845)
- Wilson, Peter Gordon (1950-)
- Waterhouse, John Teast (1924-1983)
ชื่ออื่น ๆ
ขานาง (ชุมพร)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ธวัชชัย สันติสุข