ชะอม

Acacia pennata (L.) Willd. subsp. insuavis (Lace) I. C. Nielsen

ชื่ออื่น ๆ
ผักหละ (เหนือ); ผักหา (แม่ฮ่องสอน); ฝ่าเซ็งดู่, พูซูเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); โพซุยโดะ (กะเหรี่ย
ไม้เถาเนื้อแข็งหรือไม้พุ่มรอเลื้อย เปลือกต้นสีขาว ลำต้นและกิ่งมีหนามแหลม ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ เรียงเวียน มีต่อมที่โคนก้านและแกนกลางใบประกอบ ใบประกอบชั้นที่ ๒ มีใบย่อย ๓๒-๖๐ ใบ เรียงตรงข้าม รูปขอบขนาน ไม่มีก้านใบย่อย ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงหรือเป็นช่อเดี่ยวออกเป็นกระจุก ๑-๔ ช่อ ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น ดอกสีขาว ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝักแบน รูปขอบขนาน สีน้ำตาลแดง เปลือกบางคล้ายกระดาษ ผิวเป็นลายตามขวางตื้น ๆ เมล็ดสีน้ำตาลถึงสีดำ เปลือกชั้นนอกแข็ง ผิวมีลายเป็นรูปตัวยู

ชะอมเป็นไม้เถาเนื้อแข็งหรือไม้พุ่มรอเลื้อยเปลือกต้นสีขาว ลำต้นและกิ่งมีหนามแหลม กิ่งอ่อนมีขนต่อมประปราย

 ใบประกอบแบบขนนกสองชั้นปลายคู่ ยาว ๑๐-๒๕ ซม. เรียงเวียน ก้านใบยาว ๕-๑๕ ซม. ใกล้โคนก้านสูงขึ้นมาประมาณ ๖ มม. มีต่อมรูปรีหรือรูปรีแคบ ยาว ๑.๕-๕ มม. หูใบรูปไข่หรือรูปใบหอก กว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาว ๓-๕ ซม. ปลายเป็นติ่งแหลม มีขนสั้นหนานุ่ม แกนกลางใบยาว ๑๒-๒๙ ซม. บนแกนกลางใบมีต่อมอยู่ระหว่างแขนงใบประกอบชั้นที่ ๒ คู่ที่ ๑-๓ นับจากปลายใบ ใบประกอบชั้นที่ ๑ ประกอบด้วยช่อแขนงใบเรียงตรงข้าม ๑๓-๑๖ คู่ ใบประกอบชั้นที่ ๒ มีก้าน ใบสั้นมากหรือไม่มี แกนกลางใบยาว ๕-๑๐ ซม. มีใบย่อย ๓๒-๖๐ ใบ เรียงตรงข้าม รูปขอบขนานกว้าง ๐.๕-๐.๖ มม. ยาว ๓-๗ มม. ปลายแหลมเบี้ยว เป็นติ่งหนามหรือเป็นติ่งแหลมอ่อน โคนตัด เบี้ยวขอบมีขนครุย แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบอยู่ชิดขอบด้านหนึ่ง เส้นใบย่อยเห็นไม่ชัด ไม่มีก้านใบย่อย

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงหรือเป็นช่อเดี่ยวออกเป็นกระจุก ๑-๔ ช่อ ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ช่อย่อยแบบช่อกระจุกแน่น ดอกสีขาว ใบประดับย่อยรูปช้อน ยาว ๐.๗-๑.๓ มม. กลีบเลี้ยงยาว ๑.๗-๓ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด มีขนประปรายถึงหนาแน่น ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ๕ แฉก ยาว ๐.๒-๐.๙ มม. กลีบดอกยาว ๒.๗-๓ มม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกเป็นแฉกแหลม ๕ แฉก ยาว ๐.๕-๑.๓ มม. มีขนประปราย เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูเรียวเล็กคล้ายเส้นด้ายก้านรังไข่ยาว ๐.๘-๑.๗ มม. รังไข่อยู่เหนือวงกลีบยาว ๐.๗-๑.๕ มม. มีขน มี ๑ ช่อง ออวุลจำนวนมากก้านยอดเกสรเพศเมียยาวประมาณ ๔ มม.

 ผลแบบผลแห้งแตกสองแนว เป็นฝักแบน รูปขอบขนาน สีน้ำตาลแดง กว้าง ๒.๒-๒.๙ ซม. ยาว ๑๔.๕-๒๐ ซม. เปลือกบางคล้ายกระดาษ เกลี้ยง ผิวเป็นลายตามขวางตื้น ๆ ก้านช่อผลยาว ๑.๒-๒ ซม. ก้านผลยาว ๐.๕-๑.๗ ซม. เมล็ดสีน้ำตาลถึงสีดำเปลือกชั้นนอกแข็ง ผิวมีลายเป็นรูปตัวยู

 ชะอมเป็นพรรณไม้ต่างประเทศ นำเข้ามาปลูกในประเทศไทย ออกดอกและเป็นผลเดือนตุลาคมถึงธันวาคม ในต่างประเทศพบที่เมียนมาและกัมพูชา

 ประโยชน์ ใบอ่อนใช้เป็นผัก ต้นปลูกเป็นแนวรั้ว.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ชะอม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Acacia pennata (L.) Willd. subsp. insuavis (Lace) I. C. Nielsen
ชื่อสกุล
Acacia
คำระบุชนิด
pennata
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Willdenow, Carl Ludwig
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
subsp. insuavis
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Lace) I. C. Nielsen
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Willdenow, Carl Ludwig (1765-1812)
ชื่ออื่น ๆ
ผักหละ (เหนือ); ผักหา (แม่ฮ่องสอน); ฝ่าเซ็งดู่, พูซูเด๊าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); โพซุยโดะ (กะเหรี่ย
ผู้เขียนคำอธิบาย
นางสาวนันทวรรณ สุปันตี