ขางคันนาเป็นไม้พุ่ม ลำต้นเอนหรือทอดไปตามพื้นดิน ยาว ๐.๕-๓ ม. รากแข็งและอวบพองกว่าลำต้น แตกกิ่งจากส่วนโคน ผิวค่อนข้างเรียบ กิ่งอ่อนเกลี้ยงหรือมีขนสีน้ำตาล
ใบประกอบแบบขนนก เรียงเวียน ก้านใบประกอบยาว ๑-๓.๕ ซม. มีขนอ่อนเช่นเดียวกับกิ่งอ่อน หูใบรูปสามเหลี่ยม กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๐.๗-๒.๒ ซม. ปลายเรียวแหลม ขอบเกลี้ยงหรือมีขนสั้นสีขาว มีใบย่อย ๓ ใบ ใบย่อยมีหลายรูปแบบ กว้าง ๑-๔ ซม. ยาว ๑.๕-๙ ซม. แผ่นใบด้านบนมีขนละเอียดสีขาวประปราย ด้านล่างมีขนยาวสีขาวหนาแน่นกว่าด้านบน ใบย่อยใบกลางรูปรีกว้าง รูปไข่ หรือรูปไข่กลับ ปลายแหลม ป้านหรือหยัก โคนป้านถึงมน ขอบเรียบ ก้านใบย่อยของใบกลางยาว ๐.๕-๑ ซม. มีขน หูใบย่อยรูปร่างคล้ายหูใบแต่ขนาดเล็กกว่า
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาว ๒-๑๓ ซม. ช่อดอกอ่อนมีใบประดับหุ้ม แกนกลางมีขนสีขาวเอนแนบติดกับแกน ดอกรูปดอกถั่ว สีขาว ชมพู หรือม่วง ออกรวมเป็นกลุ่ม ๑-๓ ดอก เรียงตัวห่างหรือชิดกันเวียนรอบแกนกลาง ก้านดอกยาว ๒-๘ มม. มีขน ใบประดับกว้าง ๒-๔ มม. ยาว ๕-๘ มม. รูปขอบขนานถึงรูปไข่ ปลายเรียวแหลม ขอบมีขนสีขาว กลีบเลี้ยงโคนติดกันเป็นรูปถ้วย ยาวประมาณ ๓ มม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก กลีบดอก ๕ กลีบ กลีบกลางรูปไข่กว้างเกือบกลม ปลายหยักหรือมน กว้าง ๔-๗ มม. ยาว ๕-๗ มม. กลีบคู่ข้างรูปไข่กลับ กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๔-๕ มม. โคนกลีบสอบเรียว กลีบคู่ล่างติดกันเป็นรูปเรือ เกสรเพศผู้ ๑๐ อัน รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง ออวุล ๔-๘ เม็ด
ผลแบบฝักหักข้อ รูปขอบขนาน แบน กว้าง ๒-๓ มม. ยาว ๑-๒.๘ ซม. ขอบหยัก มี ๔-๘ ข้อ ผิวเรียบถึงมีขนประปราย เมล็ดรูปรี กว้าง ๑-๒ มม. ยาว ๒-๓ มม. ข้อละ ๑ เมล็ด
ขางคันนามีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค ที่สูงตั้งแต่ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๑,๖๐๐ ม. ออกดอกมากในช่วงปลายฤดูฝนตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป ในต่างประเทศพบแถบภาคใต้และตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย รวมทั้งทวีปแอฟริกา ออสเตรเลีย และตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก
ขางคันนาเป็นพืชที่มีประโยชน์ในทางรักษาโรคได้หลายอย่าง ในไต้หวันใช้น้ำต้มจากรากรักษาโรคกระดูกอ่อน (ricket) เนื่องจากการขาดวิตามินดีในเด็ก ในมาเลเซียน้ำต้มทั้งต้นเป็นยาบำรุงกำลังและแก้ไอ (Perry and Metzger, 1980) ในฮ่องกงใช้ต้นเป็นยาเย็นแก้การอักเสบและบวม ระงับปวดและขับปัสสาวะ (Ning-hon, 1984).