กระบากเป็นไม้ต้น สูง ๒๐-๓๐ ม. เรือนยอดเป็นพุ่มกลม ลำต้นเปลา โคนต้นมักเป็นพอน เปลือกหนา สีน้ำตาลแกมเทา แตกเป็นร่องหรือเป็นสะเก็ด เปลือกในเป็นชั้น ๆ สีเหลืองอ่อนอมน้ำตาล กระพี้สีขาวอมเหลือง แก่นสีน้ำตาลอมเหลืองอ่อนจนถึงสีน้ำตาลคล้ำ
ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กลับหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๓-๘ ซม. ยาว ๖-๑๗ ซม. ปลายมนหรือแหลมเป็นติ่งสั้น ๆ โคนมนหรือเว้าเล็กน้อย ส่วนใหญ่โคนใบแคบกว่าปลายใบขอบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ ๑๒-๑๙ เส้น ปลายจรดกันก่อนถึงขอบใบ แผ่นใบหนา ด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสีน้ำตาลอมเหลือง ก้านใบยาว ๑.๓-๑.๖ ซม.
ช่อดอกแบบช่อกระจะ ออกตามง่ามใบและปลายกิ่ง ยาวประมาณ ๑๐ ซม. ดอกเล็ก สีขาวอมเหลือง เมื่อบานเต็มที่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑ ซม. ก้านช่อดอก ก้านดอก และกลีบเลี้ยงมีขนนุ่ม กลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เรียวแหลม ยาวไล่เลี่ยกัน โคนติดกันเป็นหลอด โคนหลอดเชื่อมติดกับฐานรังไข่ กลีบดอก ๕ กลีบ เรียงซ้อนเวียนกัน เกสรเพศผู้มีจำนวนมากอับเรณูรูปขอบขนาน ยาวประมาณ ๒ มม. รังไข่กึ่งใต้วงกลีบมี ๓ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด
ผลเป็นผลแห้งไม่แตก รูปกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ ๑ ซม. มีกลีบเลี้ยงเป็นปีก ปีกยาวรูปไข่กลับ มี ๒ ปีก กว้าง ๑-๒ ซม. ยาว ๓-๑๐ ซม. โคนสอบเรียว มีเส้นปีกตามยาว ๓ เส้น เห็นเด่นชัด ปีกสั้นมี ๓ ปีก เรียวแหลม ยาวประมาณ ๑.๕ ซม. หลอดกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกับผิวของผล
กระบากมีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาคขึ้นตามลาดเขาและริมลำธารในป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณชื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล ๑๐๐-๔๐๐ ม. ออกดอกประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงกุมภาพันธ์ ในต่างประเทศพบที่พม่า ภูมิภาคอินโดจีน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์
ไม้ใช้ทำแบบเทคอนกรีต พื้น แจว พาย กรรเชียง สัน แปรง ลังใส่ของ โลงศพ ไม้บาง และไม้อัด ชั้นใช้ผสมน้ำมันทาไม้ ทำน้ำมันชักเงาอย่างดี ใช้ยาแนวเรือ ฯลฯ