ตาลปัตรฤๅษี ๒

Nopalea cochenillifera (L.) Salm-Dyck

ชื่ออื่น ๆ
มือผี (กรุงเทพฯ); ว่านเกี๊ยะ, ว่านไก่ให้ (เหนือ); เสมา (ทั่วไป)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็กพวกกระบองเพชร ลำต้นส่วนล่างรูปทรงกระบอก ลำต้นส่วนบนคล้ายใบ อวบน้ำ สีเขียว รูปรีถึงรูปไข่กลับแคบหรือรูปขอบขนาน มีขุมหนามกระจายทั่วไป หนามสีเทา รูปเข็ม บริเวณขุมหนามมีขนเงี่ยงจำนวนมาก ใบเดี่ยว ติดอยู่ตามลำต้น มักพบเมื่อลำต้นยังอ่อน รูปลิ่มแคบ ร่วงง่าย ดอกเดี่ยว ออกบนส่วนลำต้น รูปคล้ายฐานดอก กลีบรวมคล้ายกลีบเลี้ยงและกลีบดอก สีแดงสด ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สีแดง รูปทรงรี เมล็ดสีเทาหรือสีน้ำตาล หนา คล้ายรูปจาน มีเมล็ดจำนวนมาก

ตาลปัตรฤๅษีชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็กพวกกระบองเพชร สูง ๒-๔ ม. ลำต้นส่วนล่างรูปทรงกระบอก เส้นผ่านศูนย์กลางได้ถึง ๒๐ ซม. แกนกลางคล้ายมีเนื้อไม้ ลำต้นส่วนบนคล้ายใบ อวบน้ำ สีเขียว รูปรีถึงรูปไข่กลับแคบหรือรูปขอบขนาน กว้าง ๕-๑๒ ซม. ยาว ๘-๓๕ ซม. ปลายมนกลม โคนรูปลิ่ม ขอบเรียบ ขุมหนามมีเส้นผ่านศูนย์กลาง


ประมาณ ๒ มม. ห่างกัน ๒-๓ ซม. ปรกติไม่พบหนาม แต่ถ้ามีหนามจะพบ ๑-๓ หนามในแต่ละขุมหนาม หนามสีเทา รูปเข็ม ยาว ๓-๙ มม. บริเวณขุมหนามมีขนเงี่ยงจำนวนมาก

 ใบเดี่ยว ติดอยู่ตามลำต้น มักพบเมื่อลำต้นยังอ่อน รูปลิ่มแคบ ยาว ๓-๔ มม. ใบลดรูปเป็นหนามเมื่อแก่ ร่วงง่าย

 ดอกเดี่ยว ออกบนส่วนลำต้น รูปคล้ายฐานดอก ออกมาจากขุมหนามตามขอบส่วนปลายของลำต้นแก่ ดอกตั้งตรง รูปทรงเกือบกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๒-๑.๕ ซม. ตามขุมหนามมีขนเงี่ยงจำนวนมาก กลีบรวมคล้ายกลีบเลี้ยง สีแดงสด รูปช้อน กลีบที่มีขนาดใหญ่สุดรูปไข่ถึงรูปคล้ายสามเหลี่ยม กว้าง ๖-๙ มม. ยาว ๐.๕-๑.๒ ซม. ปลายแหลม ขอบเรียบ กลีบรวมคล้ายกลีบดอก สีแดงสด รูปไข่ถึงรูปไข่กลับ กว้าง ๐.๖-๑ ซม. ยาว ๑.๓-๑.๕ ซม. ปลายมนหรือแหลม ขอบเรียบหรือเป็นคลื่น เกสรเพศผู้จำนวนมาก ก้านชูอับเรณูสีชมพู ยาว ๓-๔ ซม. ยาวพ้นกลีบรวมคล้ายกลีบดอก อับเรณูสีเทาอ่อน ยาวประมาณ ๑.๕ มม. รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุลจำนวนมาก ก้านยอดเกสรเพศเมียสีชมพู ยาว ๔-๕ ซม. โคนก้านป่อง ยอดเกสรเพศเมียมี ๖-๘ แฉก สีเขียวหรือสีเหลือง ยาวพ้นเกสรเพศผู้ ต่อมน้ำต้อยรูปรีถึงรูปกรวยกลับ ยาวประมาณ ๓ มม.

 ผลแบบผลมีเนื้อหนึ่งถึงหลายเมล็ด สีแดง รูปทรงรี กว้าง ๒.๕-๓ ซม. ยาว ๓-๕ ซม. เมล็ดสีเทาหรือสีน้ำตาล หนา คล้ายรูปจาน กว้าง ๑.๕-๓ มม. ยาว ๓-๕ มม. มีขนสั้นนุ่มบาง มีเมล็ดจำนวนมาก

 ตาลปัตรฤๅษีชนิดนี้เป็นพรรณไม้ต่างประเทศ มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโก อเมริกากลาง และหมู่เกาะเวสต์อินดีส นำเข้ามาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในเขตร้อน ออกดอกเดือนกันยายนถึงมีนาคม เป็นผลเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม

 ประโยชน์ ลำต้นของตาลปัตรฤๅษีชนิดนี้ใช้เลี้ยงแมลงชนิด Dactylopius opuntiae เมื่อโตเต็มที่นำมาสกัดได้สีแดงสด นำไปใช้เป็นสีย้อม (Lim, 2012) ผลสุกรับประทานได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตาลปัตรฤๅษี ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Nopalea cochenillifera (L.) Salm-Dyck
ชื่อสกุล
Nopalea
คำระบุชนิด
cochenillifera
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Salm-Reifferscheid-Dyck, Joseph Franz Maria Anton Hubert Ignatz Fürst zu
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Salm-Reifferscheid-Dyck, Joseph Franz Maria Anton Hubert Ignatz Fürst zu (1773-1861)
ชื่ออื่น ๆ
มือผี (กรุงเทพฯ); ว่านเกี๊ยะ, ว่านไก่ให้ (เหนือ); เสมา (ทั่วไป)
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายเอกรัตน์ ธนูทอง