จ้าพิกชนิดนี้เป็นไม้พุ่ม สูงได้ถึง ๑.๕ ม. กิ่งรูปทรงกระบอก บริเวณข้อบวมพอง มีแถบเส้นสีเขียวตามยาวตลอดลำต้นและกิ่ง กิ่งแก่เกลี้ยง
ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปใบหอกหรือรูปไข่ กว้าง ๓.๕-๘ ซม. ยาว ๙-๑๙ ซม. ปลายแหลมหรือเรียวแหลม โคนรูปลิ่มหรือมน ขอบเรียบ แผ่นใบบางคล้ายกระดาษ ด้านบนและด้านล่างเกลี้ยง มีผลึกหินปูนรูปแถบหนาแน่นทั่วแผ่นใบทั้ง ๒ ด้าน เส้นกลางใบด้านบนนูนเล็กน้อย ด้านล่างนูนชัดเจนเส้นแขนงใบข้างละ ๖-๙ เส้น เส้นใบย่อยแบบร่างแหเส้นแขนงใบและเส้นใบย่อยเห็นชัดเจนทั้ง ๒ ด้าน ก้านใบยาว ๑.๒-๓.๕ ซม. ด้านบนเป็นร่องตื้น ๆ เกลี้ยง
ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกที่ปลายกิ่ง ยาว ๑๓-๑๕ ซม. แกนกลางช่อดอกมีขนสั้นนุ่มและต่อมขนาดเล็กประปราย ก้านช่อดอกรูปทรงกระบอก ยาว ๑.๘-๕ ซม. มีขนสั้นนุ่มและแถบเส้นสีเขียวตามยาวตลอดก้าน ใบประดับสีเขียว รูปสามเหลี่ยมหรือรูปใบหอก กว้าง ๐.๓-๐.๕ มม. ยาว ๑.๕-๑.๘ มม. ใบประดับย่อยรูปแถบหรือรูปแถบแกมรูปใบหอก กว้าง ๐.๒-๐.๓ มม. ยาว ๑.๒-๑.๖ มม. ใบประดับและใบประดับย่อยมีขนสั้นนุ่มและต่อมขนาดเล็กหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน ก้านดอกสั้นหรือไร้ก้าน ดอกสีชมพูอ่อนหรือสีขาวอมชมพู กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาว ๑.๒-๒ มม. ปลายแยกเป็นแฉกลึก ๕ แฉก ขนาดเกือบเท่ากัน แฉกรูปใบหอก ปลายเรียวแหลมหรือยาวคล้ายหาง มีขนสั้นนุ่มและต่อมขนาดเล็กหนาแน่นทั้ง ๒ ด้าน กลีบดอกรูปปากเปิด ยาว ๑.๑-๑.๔ ซม. โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอดรูประฆังแคบ ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แยกเป็น ๒ ซีก ซีกบน ๑ แฉก รูปสามเหลี่ยมแคบ ปลายมนหรือเว้าตื้น ซีกล่าง ๓ แฉก รูปขอบขนาน ปลายมนโค้งพับลง มีเส้นแยกแขนงสีชมพูแกมม่วง ด้านนอกหลอดกลีบดอกเกลี้ยง เกสรเพศผู้ ๒ เกสร โผล่พ้นหลอดกลีบดอก ก้านชูอับเรณูติดที่แฉกกลีบดอกซีกล่าง อับเรณูรูปขอบขนานหรือรูปรี มี ๒ พู พูล่างมีเดือย ๑ อัน รังไข่ อยู่เหนือวงกลีบ ทรงรูปไข่กลับหรือรูปทรงรี เกลี้ยง มี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียเรียวยาว ยอดเกสรเพศเมียเป็นแฉกสั้น ๒ แฉก
ผลแบบผลแห้งแตก รูปคล้ายทรงกระบอกแตกเป็น ๒ ซีก เมล็ดแบน มีขนาดเล็ก รูปค่อนข้างกลมผิวเป็นปุ่ม มี ๔ เมล็ด ก้านเมล็ดมีตะขอรูปร่างคล้ายเข็มปลายแหลม
จ้าพิกชนิดนี้เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย มีเขตการกระจายพันธุ์ทางภาคเหนือ พบตามป่าดิบแล้งหรือป่าเบญจพรรณ ที่สูงจากระดับทะเล ๓๐๐-๘๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม.